อโคจรในพระวินัยปิฎกกับสังคมไทยปัจจุบัน
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่อง “อโคจรในพระวินัยปิฎกกับสังคมไทยปัจจุบัน” มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษาอโคจรในพระวินัยปิฎก (2) เพื่อเสนอแนะแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับอโคจรในพระวินัยปิฎกกับสังคมไทยปัจจุบัน โดยเป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) ศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎก อรรถกถา และวินัยมุข ขณะเดียวกันก็ศึกษาแบบแผนการปฏิบัติทั้งเรื่อง อโคจรและบทลงโทษแก่ภิกษุผู้ละเมิดตามแนวแห่งกฎพระสงฆ์ พระราชบัญญัติการปกครอง
คณะสงฆ์แต่อดีตถึงปัจจุบัน ตลอดจนพระมหาสมณวินิจฉัย สังฆาณัติ กฎมหาเถรสมาคม รวมทั้งประกาศระเบียบทางการปกครองของคณะสงฆ์ที่ประกาศใช้เพื่อควบคุมอาจาระและอโคจรของภิกษุสามเณรในสังฆมณฑล
อโคจร หมายถึงทั้งสถานที่อันภิกษุไม่ควรเข้าไปและตัวบุคคลที่ภิกษุไม่ควรเข้าไปคบหาสมาคมคลุกคลีด้วย เช่นซ่องโสเภณี บ่อนการพนัน สถานบันเทิงยามราตรี ร้านขายสุรา แหล่งมั่วสุมยาเสพติด ตลอดจนโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ย่านตลาดสินค้า เป็นต้น แนวทางปฏิบัติคือ พระสงฆ์ต้องยึดถือบทบัญญัติตามพระวินัย ยึดแนวอรรถาธิบายของพระอรรถกถาจารย์
พระคันถรจนาจารย์ และปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ข้อใดแม้ไม่ปรากฏก็ให้ถืออนุโลมตามวัตถุประสงค์แห่งการบัญญัติสิกขาบท 10 ประการว่าเป็นไปเพื่ออะไร ยึดหลักการตีความตามมหาปเทส 4 ยึดตามหลักเกณฑ์การตัดสินพระธรรมวินัย 8 ประการ ทั้งนี้ต้องนึกถึงเจตนาและสามัญสำนึกของตนเองว่าอะไรควรไม่ควร โดยคิดว่าอะไรเป็นปัณณัตติวัชชะ อะไรเป็นโลกวัชชะพึงงดเว้นโดยเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อรักษาศรัทธาปสาทะของประชาชนไว้ เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุสงฆ์และเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนา
Article Details
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร มจร บาฬีศึกษาพุทธโฆสปริทรรศน์ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร มจร บาฬีศึกษาพุทธโฆสปริทรรศน์ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสาร มจร บาฬีศึกษาพุทธโฆสปริทรรศน์หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักอักษรจากวารสาร มจร บาฬีศึกษาพุทธโฆสปริทรรศน์ก่อนเท่านั้น
References
กรมศิลปากร. ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 จารึกกรุงสุโขทัย. กรมศิลปากร พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชประสิทธิคุณ ณ สุสานวัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย 8 เมษายน 2515. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2515.
. เรื่องกฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์, 2521.
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). คำวัด. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียงเพียรเพื่อพุทธศาสน์, 2548.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2551.
พระพุทธโฆสาจารย์. คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1. ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2555. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2555.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.
. อรรถกถาภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาอรรถกถา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2551.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. วินัยมุข เล่ม 2 [หลักสูตรนักธรรมชั้นโท], พิมพ์ครั้งที่ 31. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2543.
. เสด็จตรวจการคณะสงฆ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. คณะธรรมยุตพิมพ์ถวาย เนื่องในงานฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 3 ตุลาคม 2556 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2556.