ศึกษาอนัตตลักษณะของรูปนาม ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา

Main Article Content

สุพิชฌาย์ พรพิชณรงค์
พระครูสุธี จันทวงศ์

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษาหลักอนัตตลักษณะในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท (2) เพื่อศึกษารูปนามในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และ (3) เพื่อศึกษาอนัตตลักษณะของรูปนามในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า


จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น ก็เพื่อชำระจิตของผู้ปฏิบัติให้บริสุทธิ์สะอาด หมดจดกระทั่งถึงบรรลุ มรรค ผล นิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดทางพระพุทธศาสนา ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ทรงมอบพระพุทธศาสนาให้เป็นสมบัติของพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้บรรลุธรรมระดับใดก็ตาม ด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนาก็ย่อมจะทำให้พุทธบริษัทอื่นเกิดความมั่นใจในการเจริญวิปัสสนาภาวนา


การเจริญวิปัสสนาภาวนาสามารถพัฒนาจิตของตนขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสามารถบรรลุจุดหมายสูงสุดคือพระนิพพานได้ และจะได้ช่วยสังคมโลกได้รับประโยชน์คือสันติภาพ ปัญหาต่าง ๆ ที่โลกกำลังประสบอยู่ เช่น การเบียดเบียนทำลายล้างกัน การแย่งชิงผลประโยชน์จะลดน้อยลงไปตามลำดับ เพราะอาศัยการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนามีจุดมุ่งหมายพื้นฐานคือ การอบรมจิตใจให้สงบจากนิวรณ์ธรรม คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ ความเร่าร้อน ไม่สบายใจ และระแวงสงสัย เป็นต้น จิตที่สงบจากนิวรณ์ธรรมทั้งหลายจักเข้าถึงสภาวะที่เรียกว่าสมาธิ


อนัตตลักษณะไม่มีอาตมันหรือวิญญาณแต่อย่างใด มีเพียงขันธ์ 5 ที่ไม่อยู่ในบังคับบัญชาให้เที่ยงหรือเป็นสุขที่ถาวร อนัตตลักษณะจัดเป็นธรรมที่ละเอียดเข้าใจยาก ผู้ที่ยังไม่เข้าใจอนัตตลักษณะไม่อาจบรรลุมรรคผลได้ และพบในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ปรากฏในศาสนาอื่น


ดังนั้น การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้นต้องกำหนดรู้อารมณ์ของวิปัสสนา คือ วิปัสสนาภูมิเท่านั้นได้แก่ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท 12 อริยสัจจ์ 4 เมื่อย่อลงแล้วได้แก่ นามรูป ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา หรือเป็นธรรมที่อบรมให้เกิดปัญญา และสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาทั้งสิ้น เพราะว่า เมื่อเรากำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมีสติและไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงนั้น พิจารณาตามความเป็นจริง จะเกิดสภาวะเห็นแจ้งพระไตรลักษณ์ ก็จัดเป็นอารมณ์วิปัสสนาภาวนาได้อย่างแท้จริง จากนั้นการเห็นพระไตรลักษณ์จะเกิดสภาวะเห็นแจ้งรู้ได้ด้วยญาณ คือวิปัสสนาญาณตามลำดับไป

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก าณสิทฺธิ).วิปัสสนากรรมฐาน. ในงานพระราชทาน
เพลิงศพพระเทพโพธิวิเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: พิมพ์ที่ บริษัทประยูรวงศ์ พริ้นท์ติ้ง จำกัด, 2554.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.