ทุนมนุษย์กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนขนมเทียนแก้ว : ในการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านหนองจอกพัฒนา อ.คลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

Main Article Content

สุวภัทร หนุ่มคำ
อิสราวัชร เฟื่อมอิ่ม

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันของการบริหารงานกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมเทียนแก้วจากภูมิปัญญาในการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 2) ศึกษารูปแบบทุนมนุษย์กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนในการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 3) เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ในการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และ 4) ศึกษาผลการใช้แนวทางในการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ในการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมเทียนแก้วจากภูมิปัญญา โดยใช้หลักการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการสนทนากลุ่มย่อยกับกลุ่มเป้าหมายโดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้รู้ 2 คน กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน 3 คน กลุ่มผู้ดูแลและสนับสนุน 3 คน และตัวแทนนักวิชาการ 1 คน รวมทั้งสิ้น 9 คน
วัตถุประสงค์ข้อที่ 1 พบว่า สภาพปัจจุบันของกลุ่มเป็นการบริหารงานภายใต้ระบบเศรษฐกิจชุมชน ครอบครัวเป็นหน่วยการผลิต แรงงานของสมาชิกในครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด มีการจ้างแรงงานบางส่วนซึ่งเป็นคนในชุมชน ไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการใดๆ มีการรับซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ จากชุมชน การผลิตขนมเทียนแก้วมีการสืบทอดจากภูมิปัญญาที่ได้รับการต่อยอดและนำมาพัฒนาจนประสบความสำเร็จ แต่ภูมิปัญญามิได้มีการถ่ายทอดออกไปสู่ชุมชนเป็นเพียงการถ่ายทอดให้กับคนในครอบครัวเท่านั้นเพราะมีความหวงแหนและเป็นความลับในการสืบทอดของวงศ์ตระกูล
วัตถุประสงค์ข้อที่ 2 พบว่า รูปแบบของทุนมนุษย์ที่สำคัญที่ช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ขนมเทียนแก้วได้รับการพัฒนาต่อยอดเรื่อยมา คือ รูปแบบของทุนทางปัญญา ที่ประกอบไปด้วยความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และการพัฒนาตนเองตลอดเวลาของเจ้าของผลิตภัณฑ์ รวมถึงทุนทางสังคมที่เป็นลักษณะเครือข่ายทางสังคมเพื่อให้พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ทันโลก และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาต่อยอด
วัตถุประสงค์ข้อที่ 3 พบว่า แนวทางในการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มขนมเทียนแก้ว คือ การพยายามปรับปรุง เรียนรู้ พัฒนา ต่อยอดทั้งตัวสินค้า บรรจุภัณฑ์ มาตรฐานการผลิตต่าง ๆ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เเม้จะมีข้อจำกัดในส่วนของตัวขนมเองที่เป็นขนมสด ส่งผลต่อการเก็บรักษา หรือในเรื่องของสถานที่ดำเนินการผลิตที่ถูกมองว่ายังไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยที่มีการกำหนดไว้
วัตถุประสงค์ข้อที่ 4 พบว่า ผลลัพธ์เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า ยิ่งพัฒนา ผลิตภัณฑ์ก็ยิ่งมีมูลค่าเพิ่ม มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก และสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ผลของการพัฒนาดังกล่าว ยังเป็นต้นแบบให้บุคคล องค์กร หน่วยงานภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้แนวทางในการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อถอดบทเรียนและนำไปปรับใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย

Article Details

บท
บทความวิจัย