แนวทางการจัดทำกิจกรรมโครงการสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์การภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อเป็นฐานรองรับทำประโยชน์สาธารณะ ตำบลบ้านเป้า อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

ประวิทย์ สวัสดิรักษา
สุริยจรัส เตชะตันมีนสกุล

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อประเมินระบบโครงการสนับสนุนการสร้างความร่วมมือ    2) เพื่อศึกษาอิทธิพลเชิงสาเหตุของปัจจัยต่อผลผลิตโครงการระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 3) เพื่อศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดทำโครงการเพื่อเป็นฐานรองรับการทำประโยชน์สาธารณะ ในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างและการสนทนากลุ่มย่อย ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามโดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญ รวม 92 คน ได้แก่ บุคลากรค่ายมวยบัญชาเมฆ ประชาชนตำบลบ้านเป้า  อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่  ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และผู้นำภาคประชาสังคม


ผลการศึกษาพบว่า โครงการมีการจัดกิจกรรมวิ่งมาราธอนเส้นทางธรรมชาติอุทยานศรีลานนา เส้นทางระบบชลประทานเขื่อนแม่งัด และการจัดแข่งขันชกมวยไทย ผลการประเมินโครงการพบว่า ด้านผลผลิต (Output) คือ ทุกภาคส่วนมีความพึงพอใจ โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างบัวขาววิลเลจและชุมชน ประชาชนในพื้นที่บ้านเป้าหันมาให้ความสนใจในการออกกำลังกาย ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ตามลำดับ ด้านผลลัพธ์ (Outcome) ทำให้บัวขาววิลเลจและชุมชนบ้านเป้าเป็นที่รู้จักของคนไทยและคนต่างชาติ และได้เผยแพร่วัฒนธรรมไทยและวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่ในชุมชน เกิดความร่วมมือกันจัดกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์และสานสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน  นำเงินรายได้จากการจัดงานมาสนับสนุนกิจการสาธารณกุศลในพื้นที่ และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวในพื้นที่ตำบลบ้านเป้ามากขึ้นตามลำดับ ด้านผลกระทบ (Impact) พบว่าทำให้หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญกับทุนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐให้ความสนใจพื้นที่บ้านเป้ามากขึ้น เกิดอาชีพใหม่ให้กับชุมชนมากขึ้นและทำให้ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น ตามลำดับ


ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลผลิตของ ได้แก่ เหตุผลความจำเป็น การวางแผนโครงการ และภาคส่วนความร่วมมือ โดยมีค่าอิทธิพลเชิงสาเหตุเท่ากับ 0.39 0.29 และ 0.20 ตามลำดับ คือ 1) ด้านเหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินโครงการ คือ เป็นโครงการที่ใช้โอกาสจากจุดแข็งของพลังละมุนทุนมนุษย์ คือ รต.สมบัติ บัญชาเมฆ (บัวขาว) เป็นเจ้าของโครงการ  สอดคล้องกับจุดแข็งของชุมชนที่มีทุนธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และความต้องการการพัฒนาของผู้นำและประชาชน คือ ประชาสัมพันธ์พื้นที่ การพัฒนาการท่องเที่ยว และการพัฒนาวิสาหกิจรองรับการท่องเที่ยว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การส่งเสริมสุขภาพ การส่งเสริมด้านกีฬา การอนุรักษ์ธรรมชาติและการท่องเที่ยว เป็นโครงการที่สนับสนุนในการสร้างความร่วมมือของหลายภาคส่วนในพื้นที่ 2) ด้านการวางแผนโครงการพบว่ามีการประชุมเพื่อระดมสมองในการวางแผนโครงการ ได้กำหนดโครงการให้มีความเหมาะสม มีการประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือภาคส่วนในการจัดทำโครงการ กำหนดแผนตารางเวลา ระยะเวลาในการนำโครงการสู่การปฏิบัติงานอย่างชัดเจน เป็นโครงการที่มีการเขียนโครงการ ได้แก่ การเขียนหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์โครงการมีความเหมาะสม และ 3) ด้านภาคส่วนความร่วมมือ โครงการได้รับการความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

สถาบันพระปกเกล้า. (2563). การบริหารภาครัฐแนวใหม่. สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การบริหารงานภาครัฐแนวใหม่

สุริยจรัส เตชะตันมีนสกุล. (2561). การประเมินผลโครงการ. เชียงใหม่: วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

Osborne, S. P. (2010). Introduction: The (New) Public Governance: A Suitable Case for Treatment?. In S. P. Osborne (Eds.), The New Public Governance?: Emerging Perspectives on the Theory and Practice of Public Governance (pp.1-6). London: Routledge.

Yamane, T. (1967). Statistics, An Introductory Analysis (2nd ed.). New York, NY: Harper and Row.