การแสวงหาข่าวสารเรื่องเพศศึกษาและการใช้ประโยชน์ของผู้รับสาร “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว”
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาการแสวงหาข่าวสารจากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” ของผู้รับสาร 2.เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์จากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” ของผู้รับสาร 3.เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการแสวงหาข่าวสารกับการใช้ประโยชน์จากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” ของผู้รับสาร จำนวนทั้งสิ้น 400 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลคือ แบบสอบถาม ประกอบด้วยการแสวงหาข่าวสารจำนวน 7 ข้อ เนื้อหาความรู้เรื่องเพศจำนวน 11 ข้อ และการใช้ประโยชน์จำนวน 7 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ซึ่งประมวลผลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ โดยใช้ทฤษฎีความน่าเชื่อถือ แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา แนวคิดเกี่ยวกับเฟซบุ๊ก ทฤษฎีการแสวงหาข่าวสาร ทฤษฎีการใช้ประโยชน์และความพึงพอใจจากสื่อ มาใช้ในการวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการแสวงหาข่าวสาร ในงานวิจัยนี้กลุ่มตัวอย่างมีวัตถุประสงค์และประเภทของเนื้อหาในการแสวงหาจากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” ดังนี้ 1.กลุ่มตัวอย่างมีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาข่าวสารจากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์หรือรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวมากที่สุด(ค่าเฉลี่ย 3.82) รองลงมาคือเพื่อต้องการหาความรู้ (เพศศึกษา) (ค่าเฉลี่ย 3.68) และน้อยที่สุดคือนำไปพูดคุยสนทนากับเพื่อนฝูง (ค่าเฉลี่ย 3.01) 2.กลุ่มตัวอย่างชอบแสวงหาเนื้อหาจากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” โดยกลุ่มตัวอย่างแสวงหาความรู้เรื่องเพศจากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” มากที่สุด คือความรู้ทางจิตวิทยา (เช่น ความผิดปกติด้านอารมณ์และจิตใจในเรื่องเพศ, ความต้องการและความรู้สึกทางเพศ) (ค่าเฉลี่ย 4.01) รองลงมาคือทัศนะต่าง ๆ ในเรื่องเพศ (ค่าเฉลี่ย 3.94) และน้อยที่สุดคือประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ(ค่าเฉลี่ย 3.48) 3.กลุ่มตัวอย่างใช้ประโยชน์ในข่าวสารเกี่ยวกับความรู้เรื่องเพศจากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” โดยกลุ่มตัวอย่างใช้ประโยชน์จากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” มากที่สุดในการได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน (ค่าเฉลี่ย 4.07) รองลงมาคือนำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้เรื่องเพศ (ค่าเฉลี่ย 3.90) และน้อยที่สุดคือสามารถนำเอาความรู้เรื่องเพศที่ได้รับไปแนะนำให้บุคคลอื่นได้ (ค่าเฉลี่ย 3.71)
ผลการทดสอบสมมติฐาน การแสวงหาข่าวสารมีความสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์จากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” ของผู้รับสาร ในด้านวัตถุประสงค์และประเภทเนื้อหาในการแสวงหาข่าวสารกับการใช้ประโยชน์จากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” ของผู้รับสารนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 จึงเป็นไปตามสมมติฐาน และเป็นความสัมพันธ์กันในทางบวกและอยู่ในระดับสูง หมายความว่า กลุ่มตัวอย่างที่แสวงหาเนื้อหาข่าวสารประเภทต่าง ๆ จากรายการ “หงี่ เหลา เป่า ติ้ว” มาก ก็จะมีการใช้ประโยชน์จากข่าวสารความรู้เรื่องเพศมากตามไปด้วย
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
โกสินทร์ รัตนคร. (2552). การใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารของการเลือกคู่ครอง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ณัฐธิดา แขวงสวัสดิ์. (2560). การวิเคราะห์เนื้อหาทางด้านเพศ การใช้ภาษา ความรุนแรงภาพตัวแทน และการเปิดรับ และทัศนคติที่มีต่อการถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊ก. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
ทัศนีย์ ดำเกิงศักดิ์. (2553) การวิเคราะห์เนื้อหาเพศศึกษาและความพึงพอใจของผู้รับสารที่มีต่อคอลัมน์ "เสพสมบ่มิสม" และเว็บไซต์ meetdoctoro.com. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
น้ำทิพย์ พรหมเพ็ชร และบุหงา ชัยสุวรรณ. (2560). แนวทางการนำเสนอเรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรง และภาพตัวแทนในรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ดิจิทัล. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
รุ่งนภา มหาวรรณศรี. (2558). ปัจจัยที่มีผลต่อการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัวของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
วิเชียร เกตุสิงห์. (2537). การวิจัยเชิงปฏิบัติการ. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วิลาสินี พิพิธกุล และกิตติ กันภัย. (2546). เพศและการสื่อสารในสังคมไทย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ศิริวรรณ ทุมเชื้อ. (2558). พฤติกรรมทางเพศและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความตั้งใจ ในการป้องกันการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดสระบุรี. วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข, 25(1), 15-25.
ศุจิกา ดวงมณี. (2539). การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่าน www. ของสื่อมวลชนไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาการสื่อสารมวลชน บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ไศลทิพย์ จารุภูมิ และอรอนงค์ สวัสดิ์บุรี. (2532). การศึกษาคอลัมน์ปัญหาของสตรีในสื่อสิ่งพิมพ์. ใน รายงานการประชุมโครงการอาศรมความคิด (Forum) เรื่อง “ผู้หญิงกับการสื่อสารมวลชน”. กรุงเทพฯ: คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุชาติ และสุวรรณี โสมประยูร. (2525). เพศศึกษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โอเดียนสโตร์.
อุดมพร ยิ่งไพบูลย์สุข และเปรมวดี คฤหเดช. (2554). เพศวิถีของนักศึกษาในเขตรัตนโกสินทร์ กรณีศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา(รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
Atkin, Charles K. (1973). Anticipated Communication and Mass Media Information Seeking. Public Opinion Quarterty. New York: Free Press.
Barzt, A.E. (1999). Basic Statistical Concepts. New Jersey: Prentice-Hall,
Katz, E., Blumber, J. G., & Gurevitch, M. (1973). Utilization of mass communication by the individual. The Uses of Mass Communication. Beverly Hills: sage.
McComb, M. E., & Becker. L. B. (1979). Using mass Communication Theory. New York: Prentice-Hall.
McQuail, D., & Windahl, S. (1981). Communication Models. New York: Longman.
ประชาไท. (2016, 5 ตุลาคม). งานวิจัยเผย เพศศึกษาที่สอนทุกวันนี้ไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนวัยรุ่นทั่วโลก. ประชาไท. เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/journal/2016/10/68209