เดี่ยวฆ้องวงใหญ่ เพลงนกขมิ้น ทางครูหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย)

ผู้แต่ง

  • ทรงยศ แก้วดี

DOI:

https://doi.org/10.53848/irdssru.v9i2.214184

คำสำคัญ:

เดี่ยวฆ้องวงใหญ่ / เพลงนกขมิ้น / ครูหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย)

บทคัดย่อ

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาโครงสร้างเพลงเดี่ยวนกขมิ้น 3 ชั้นฆ้องวงใหญ่ ทางหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) 2) วิเคราะห์ทำนองเดี่ยวเพลงนกขมิ้นทางหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร ตำรา คู่มือและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์โดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง แล้วนำผลวิเคราะห์มาเรียบเรียงเป็นวิจัยเชิงคุณภาพ

ผลการศึกษาพบว่า 1) เพลงเดี่ยวนกขมิ้น ฆ้องวงใหญ่ทางหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) นี้เป็นเพลงเดี่ยว 3 ชั้น มีบันไดเสียงที่ใช้ คือ บันไดเสียงโดและบันไดเสียงซอล มี 3 ท่อน ท่อนแรกมี 2 เที่ยว เที่ยวละ 3 จังหวะ ท่อนที่ 2 และท่อนที่ 3 มีอย่างละ 2 เที่ยวเช่นกัน ท่อนละ 2 จังหวะ รวม 14 จังหวะหน้าทับมี 6 เที่ยว ใช้เครื่องกำกับจังหวะคือ ฉิ่ง ตีตามลักษณะของเพลงสามชั้นและมีเครื่องกำกับหน้าทับ คือ กลองสองหน้าใช้กำกับหน้าทับปรบไก่ การบรรเลงเดี่ยวเพลงนกขมิ้นทางหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) มีทำนองเที่ยวกลับในแต่ละท่อนไม่ซ้ำทำนองเพลง สำนวนเพลงที่พบเป็นไปแบบสลับซับซ้อน มีการวางกลลวงเหมือนกำลังจะจบเพลงแต่ยังสามารถไปต่อได้และมีการฝากจังหวะไปยังท่อนต่อไปคล้ายกับลูกโซ่ที่ร้อยเรียงต่อกันไม่รู้จบ การขึ้นเพลงใช้ขึ้นในเนื้อทำนองเดียวกันกับทำนองหลัก ลักษณะเฉพาะของการบรรเลงเดี่ยวเพลงนกขมิ้น 3 ชั้น ทางครูหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) คือ สำนวนกลอน มีสำเนียงมอญสอดแทรกอยู่และมีการปิดทางเพลงเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสงสัยเป็นปริศนาทำให้ผู้ฟังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเพลงที่ใช้เดี่ยวเพลงนี้คือเพลงใด แต่เมื่อเข้าสู่สำนวนกลอนท่อนที่ 2 สามารถรับรู้ได้ว่าเพลงเดี่ยวที่ใช้บรรเลงอยู่นี้ คือ เพลงเดี่ยวนกขมิ้น 3 ชั้น เนื่องจากสำนวนกลอนฟังง่ายขึ้นมีเค้าโครงเดิมของทำนองหลักเพลงนกขมิ้น 3 ชั้นแทรกอยู่ในทำนองเดี่ยวที่ได้คิดขึ้น

2) ทำนองเดี่ยวเพลงนกขมิ้น ทางครูหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) ผู้ประพันธ์ได้นำเทคนิคลักษณะมือของฆ้องวงใหญ่ที่หลากหลายมาใช้ในการบรรเลงทางเดี่ยว พบเทคนิคที่นำมาใช้ในการดำเนินทำนองทั้งหมด 13 ลักษณะ ได้แก่ ตีสะบัดขึ้น-ลง ตีเฉี่ยว ตีกดเสียง ตีกวาด ตีประคบมือ ตีกรอ ตีลักจังหวะ ตีไขว้มือ ตีสะเดาะ ตีลูกถ่าง ตีขยี้ ตีโยนและตีแตะ ในการบรรเลงเพลงเดี่ยวทางนี้ มีการใช้เทคนิคการตีแบบสะบัดมากที่สุด มีทั้งการสะบัดขึ้น-ลง และการสะบัดแบบตีเฉี่ยว โดยเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ถูกนำมาใช้ในเพื่อสร้างจุดเด่น หรือความพิเศษเฉพาะให้กับเพลงเดี่ยวนั้นๆ เพื่อใช้ในการอวดฝีมือ อวดทางเพลงและกลเม็ดต่างๆ ที่ครูได้บรรจงแต่งขึ้นอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังพบอัตลักษณ์ในการใช้ลักษณะมือของครูหลวงบำรุงจิตรเจริญซึ่งพบเพียงครั้งเดียวในการเดี่ยวเพลงนกขมิ้นทางนี้ และพบสำนวนกลอนของฆ้องวงเล็กใช้การสับมือในลักษณะไล่เสียงขึ้น-ลง ในการบรรเลงเพลงเดี่ยวนกขมิ้นทางนี้ นับว่าเป็นภูมิปัญญาอันปราดเปรื่องของครูดนตรีไทยที่ได้มีการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาให้กับวงการดนตรีไทยได้ศึกษา และอนุรักษ์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

References

Chaisaree, P. (2016). Sangkhtalak wikhro
Bangkok: Chulalongkorn University
Printing House.
Phukchumroon, S. (2015). interview. 18
November 2015.
Pongpitak, N. (2009). A Study of Thai
Classical Music “Nok Kameen”.
Master. Thesis, MF.A. (Ethnomusicology).
Bangkok: GraduateSchool, Srinakharinwirot.
Tangmeesri, C. (2016). interview. 12
January 2016.
Thammawiharn, S. (1989). Thai Classical
Music. Bangkok: Chulalongkorn University.
Tramote, M. (1996). Thai Music 2.
Bangkok: Chuan Phim Printing.
Wisuthipat, N. (1990). Analysis of Thai
Classical Music. Bangkok: Chuan
Printing.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

03-09-2019

How to Cite

แก้วดี ท. (2019). เดี่ยวฆ้องวงใหญ่ เพลงนกขมิ้น ทางครูหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย). วารสารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 9(2), 167. https://doi.org/10.53848/irdssru.v9i2.214184