การใช้ทำนองเพลงทางซอด้วง 7 บันไดเสียง ในการฝึกทักษะปฏิบัติ ตามแนวคิดของครูจีรพล เพชรสม
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดในการสร้างทำนองเพลง 7 บันไดเสียงซอด้วงของครูจีรพล เพชรสม และเพื่อสร้างสรรค์ทำนองเพลงที่ใช้ 7 บันไดเสียงซอด้วง วิธีการวิจัยเน้นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ การสังเกต และการวิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำข้อมูลที่ได้มาจัดเรียบเรียงเป็นหมวดหมู่ตามวัตถุประสงค์ นำเสนอข้อมูลในรูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนาวิเคราะห์ สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้ ผลการวิจัย พบว่า ครูจีรพล เพชรสม มีแนวคิดในการแก้ปัญหาการฝึกทักษะปฏิบัติของผู้เรียนเครื่องสายไทย และเพื่อประโยชน์ในการไล่มือให้ผู้เรียนเกิดทักษะปฏิบัติที่มีความคล่องตัว ลักษณะของเพลงที่นำมาใช้ในการสร้างทำนองเพลง 7 บันไดเสียง ควรเป็นเพลงประเภททางพื้นไม่บังคับทาง การแปรทำนองยึดทำนองหลักของเพลง ครูจีรพล เพชรสม ได้เลือกเพลงตับต้นเพลงฉิ่งสามชั้น ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ไล่มือสำหรับผู้เรียนเครื่องสายไทย ได้แก่ 1) เพลงต้นเพลงฉิ่ง 2) เพลงจระเข้หางยาว 3) เพลงตวงพระธาตุ 4) เพลงนกขมิ้น วิธีการสร้างทำนองเพลง 7 บันไดเสียง ผู้เรียนต้องเรียนรู้ทำนองหลักก่อน จากบันไดเสียงโด ฟา ที มี ลา เร และซอล ตามลำดับ การเปลี่ยนบันไดเสียงจากเสียงหนึ่งไปหาอีกเสียงหนึ่งจะห่างกัน 4 เสียง หลังจากนั้นจึงนำทำนองเพลงจากทำนองหลักแต่ละบันไดเสียงมาแปรทำนองตามความเหมาะสม คณะผู้วิจัยได้เลือกเพลงแขกบรเทศเถามาสร้างสรรค์เป็นทำนองเพลง 7 บันไดเสียงตามแนวคิดของครูจีรพล เพชรสม โดยมีวิธีการดังนี้ 1) ยึดทำนองหลัก 2) นำทำนองหลักที่ได้มาแปรทำนองในลักษณะ 7 บันไดเสียง เนื่องจากเป็นเพลงทางพื้นไม่บังคับทาง และเป็นเพลงพื้นฐานที่ใช้สำหรับไล่มือ ประกอบด้วย อัตราจังหวะสามชั้น สองชั้น และชั้นเดียว ตามรูปแบบของเพลงเถา ผู้เรียนสามารถเลือกฝึกปฏิบัติเฉพาะอัตราจังหวะใดจังหวะหนึ่งก็ได้ อีกทั้งเป็นเพลงที่มีรูปแบบและทำนองไม่ซับซ้อน
References
มนตรี ตราโมท. (2423). ฟังและเข้าใจเพลงไทย. กรุงเทพฯ: ไทยเขมร.
มานพ วิสุทธิแพทย์. (2556). ทฤษฎีการวิเคราะห์เพลงไทย. กรุงเทพฯ: สันติศิริการพิมพ์.
วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. (ม.ป.ป). หลักสูตรพื้นฐานวิชาชีพวิทยาลัยนาฏศิลป พุทธศักราช 2551 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น. นครปฐม: ผู้แต่ง.
ศิรินลักษณ์ เพื่อประดิษฐ์. (2542). การศึกษาเปรียบเทียบทางจะเข้กับทำนองหลักเพลงตามเกณฑ์มาตรฐานสาขาวิชาและวิชาชีพดนตรีไทยขั้น 1, 2 และ 3. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
สงบศึก ธรรมวิหาร. (2542). ดุริยางค์ไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมพงษ์ กาญจนผลิน. (2536). ดนตรีไทย โน้ต และวิธีฝึก. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อการพิมพ์.
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. (2533). คู่มือการจัดกิจกรรมส่งเสริมดนตรีไทย. กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว.
เอกสิทธิ์ สุนิมิต. (2544). การศึกษาการเปลี่ยนบันไดเสียงทางฆ้องวงใหญ่เพลงชุดโหมโรงเย็น. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ สบศ.