บทความย้อนหลัง

  • มกราคม - มิถุนายน 2567
    ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (2024)

    วารสารพัฒนศิลป์วิชาการ ประจำปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2567) ประกอบด้วยบทความจากครู อาจารย์ นักวิชาการ นักสร้างสรรค์ผลงานของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จำนวน 16 บทความ แบ่งออกเป็น บทความวิชาการ 3 บทความ บทความวิจัย 7 บทความ และบทความสร้างสรรค์ 6 บทความ บทความวิชาการ บทความวิจัย และบทความสร้างสรรค์ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาสู่ก้าวหน้าของแวดวงวิชาการด้านนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์ และทัศนศิลป์ ในด้านการวิจัย การสร้างสรรค์ ตลอดจนการพัฒนาด้านการจัดการเรียนการสอน การจัดการศึกษา อย่างไม่หยุดยั้งของคณาจารย์ บุคลากร นักวิจัย นักสร้างสรรค์งานอิสระ ก่อให้เกิดแนวทางและองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์ดังบทความวิชาการ 3 บทความ ได้แก่ การสืบสรรค์วรรณคดีมรดกของไทยในบทละคร เรื่อง “วัยมันพันธุ์อสูร” กระบวนการถ่ายทอดเพลงเดี่ยวฆ้องวงใหญ่หมู่ 9 วง เพลงแขกมอญ สามชั้น ทางพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) การฝึกโสตทักษะดนตรีสากลสำหรับผู้เรียนดนตรีไทย บทความวิจัย 7 บทความ ได้แก่ การศึกษาอนุภาคทางคติชนวิทยาและบทบาทหน้าที่ในสังคมไทยของบทเพลงที่เกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์ การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมการปฏิบัติฆ้องวงใหญ่เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง รูปแบบการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการเรียนรู้นาฏศิลป์ดนตรี การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติของนักเรียนต่อการเรียนการสอน โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ 7E การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชานาฏศิลป์ ชุดรำวงมาตรฐาน การพัฒนาหน่วยการเรียนรู้นาฏศิลป์พื้นบ้านภาคใต้ : ซัมเป็ง การประเมินผลการพัฒนาทักษะผู้นำและทักษะอาชีพของครูและนักเรียนในโครงการพัฒนาทักษะผู้นำเยาวชน และบทความงานสร้างสรรค์ 6 บทความ ได้แก่ เส้นสายลายซอ การออกแบบบอร์ดเกมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับปลากัดป่า ตัณหา : จิตรกรรมไทยร่วมสมัยกับสัญลักษณ์ที่เป็นกลางทางเพศ นาฏศิลป์สร้างสรรค์ ชุด บุพเพจีตราเนียง ประตูแห่งกาลเวลา : ศิลปะการเต้นรำเฉพาะพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าสงขลา และลายล่องนทีสองฝั่งโขง

    วารสารพัฒนศิลป์วิชาการ ขอขอบคุณผู้เขียนทุกท่านที่ให้เกียรติวารสารเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ ผลงาน ขอกราบขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมพิจารณาประเมินบทความให้ข้อแนะนำอันเป็นประโยชน์ เพื่อให้บทความมีคุณค่ามาตรฐานทางวิชาการ กองบรรณาธิการจะมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานของวารสารให้มีคุณภาพ เป็นแหล่งเผยแพร่ทรัพยากรความรู้
    สู่ประโยชน์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติต่อไป

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2566
    ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (2023)

    วารสารพัฒนศิลป์วิชาการเป็นสื่อกลางการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างครู อาจารย์ นักวิชาการ และนักสร้างสรรค์ผลงานของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และสถาบันหรือหน่วยงานอื่น ๆ ประกอบด้วย บทความตีพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ได้แก่ บทความวิชาการ บทความวิจัย บทความงานสร้างสรรค์ และบทความปริทัศน์ ในสาขาปรัชญากลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

    การศึกษาในยุคปัจจุบันมีความท้าทายในด้านการผลิตนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อก้าวทันความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการสื่อสารอันมีผลสู่เทคโนโลยีทางการศึกษา ดังนั้นสถาบันการศึกษาทุกแห่งจึงจำเป็นต้องเร่งปรับบทบาทให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นแหล่งรวมความรู้ งานวิจัย งานสร้างสรรค์ ตลอดจนบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ตามศักยภาพและความต้องการของผู้เรียนรู้ ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และการสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่องดังประจักษ์ได้จากบทความที่ปรากฏในวารสาร ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม -ธันวาคม ๒๕๖๖) จำนวน ๑๑ บทความ ประกอบด้วย บทความวิชาการ ด้านภาษาและดนตรี บทความวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน การออกแบบงานแอนิเมชัน ภาวะผู้นำของผู้บริหาร บทความด้านศิลปะวัฒนธรรมการแสดง ดนตรี และการขับร้อง โดยทุกบทความได้ผ่านการตรวจสอบ ประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ซึ่งถือเป็นมาตรฐานทางวิชาการที่กองบรรณาธิการตระหนักความสำคัญอย่างยิ่ง

    กองบรรณาธิการวารสารพัฒนศิลป์วิชาการ ขอกราบขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมประเมินบทความต่าง ๆ เพื่อให้บทความมีคุณค่ามาตรฐานทางวิชาการ และขอให้ความเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานจะมุ่งสู่การพัฒนามาตรฐานของวารสารให้มีคุณภาพ ก่อให้เกิดทรัพยากรความรู้ สู่ความก้าวหน้าในวงการศึกษา สร้างประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป

  • มกราคม - มิถุนายน 2566
    ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (2023)

    ปัจจุบันสถานการณ์โลกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้เศรษฐกิจของโลกเริ่มฟื้นฟูขึ้นตามลำดับ ควบคู่กับความก้าวหน้าในเชิงวิชาการศาสตร์ต่าง ๆ ที่พัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และการสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏบทความในวารสาร ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน 2566) จำนวน 6 บทความ ประกอบด้วยแนวความคิดงานศิลปะสตรีทอาร์ทกับการพัฒนาเมือง การก่อตัวและกระบวนการเล่นศิลปะการแสดงจังหวัดอุบลราชธานีของหมอลำหมู่สังวาทอุบล การจัดการศึกษาที่เกี่ยวกับวิชาการและศิลปะ งานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษา รวมทั้งการสร้างสรรค์งานนาฏศิลป์และงานประติมากรรมในลักษณะงานสร้างสรรค์บนพื้นฐานของการต่อยอดองค์ความรู้จากการอนุรักษ์ สืบสาน งานศิลป์ โดยทุกบทความล้วนมุ่งประโยชน์ต่อวิชาการ ท่ามกลางกระแสการพัฒนาของโลกอย่างไม่หยุดยั้ง

    กองบรรณาธิการวารสารพัฒนศิลป์วิชาการตระหนักในความมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าในงานวิชาการ และขอเป็นกำลังใจแก่ทุกท่านที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ศิลปะให้มีพลังในการอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์งานศิลป์ อย่างมีคุณภาพ  โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณประโยชน์จากบทความต่าง ๆ จะเป็นทรัพยากรความรู้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในวงการศึกษา สร้างองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์สู่สาธารณชนต่อไป

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2565
    ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (2022)

    วารสารพัฒนศิลป์วิชาการ ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2565) ประกอบด้วยบทความจำนวน 8 เรื่อง โดยเป็นบทความด้านนาฏศิลป์ 1 เรื่อง : การเจรจาเลียนสำเนียงตามเชื้อชาติที่ปรากฏในละครพันทาง เรื่องราชาธิราช ชุด สมิงพระรามอาสา ด้านดุริยางคศิลป์ 3 เรื่อง : องค์ความรู้ปราชญ์ดุริยางคศิลปิน กลองไชยมงคล และวงปี่พาทย์คณะรัตนบรรเลงและการสืบทอดทางดนตรี ด้านทัศนศิลป์ ช่างศิลป์ 2 เรื่อง : การใช้น้ำดินสีในการสร้างสรรค์งานเครื่องเคลือบดินเผา จิตรกรรมลายรดน้ำร่วมสมัย และด้านการศึกษา 2 เรื่อง :  การพัฒนาการเล่าเรื่องดิจิทัล การพัฒนาแบบฝึกทักษะการร้องร่าย โดยบทความทั้ง 8 เรื่อง ได้รับการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะทาง เพื่อคุณภาพเชิงวิชาการ

    กองบรรณาธิการวารสารพัฒนศิลป์วิชาการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณประโยชน์จากบทความต่าง ๆ ในวารสารฉบับนี้จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าในวงการศึกษา เป็นพลังสู่การสร้างคุณค่าทางวิชาการและวิชาชีพให้ก้าวไกล ยั่งยืน ต่อไป

  • มกราคม - มิถุนายน 2565
    ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (2022)

    องค์ความรู้ด้านนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์ ทัศนศิลป์ และช่างศิลป์ มีความสำคัญต่อฐานรากศิลปวัฒนธรรมของชาติ องค์ความรู้ต่าง ๆ นอกจากเป็นการอนุรักษ์ สืบสานแล้ว การสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ และการต่อยอดองค์ความรู้ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน ดังนั้น บทความที่ปรากฏในวารสารพัฒนศิลป์วิชาการ ฉบับที่ 1 ปีที่ 6 (มกราคม - มิถุนายน 2565) จำนวน 6 บทความ จึงประกอบด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์และต่อยอดองค์ความรู้ที่น่าสนใจ รวมทั้งบทความที่เสนอแนวทางการเขียนบทความสร้างสรรค์ การจัดการความรู้ ตลอดจนบทความที่เกี่ยวกับกลยุทธ์การพัฒนาสถานศึกษา โดยทุกบทความได้ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะทางเพื่อคุณภาพเชิงวิชาการ

    กองบรรณาธิการวารสารพัฒนศิลป์วิชาการมุ่งมั่น สรรหา และนำเสนอบทความทางวิชาการอันเป็นประโยชน์ จากนักวิจัย คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ของหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาทั้งภายในและภายนอกสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เพื่อเผยแพร่ศาสตร์ศิลปะ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณประโยชน์ที่ได้จากบทความต่าง ๆ ในวารสารฉบับนี้ จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าในวงการศึกษา ที่ต้องร่วมกันพัฒนาสร้างคุณค่าทางวิชาการและวิชาชีพต่อไป

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2564
    ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (2021)

    สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID 19) ยังคงแวดล้อมอยู่รอบตัวส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งแวดวงการศึกษาวิชาการต่างๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความปลอดภัยตามมาตรการที่เข้มแข็ง เพื่อสังคมความเป็นอยู่ส่วนรวม อย่างไรก็ตามท่ามกลางการเฝ้าระวังและผลกระทบที่แผ่ขยายไปทั่วโลก การค้นคว้าวิจัยสร้างสรรค์องค์ความรู้ยังคงดำเนินไปไม่หยุดยั้งเฉกเช่นวารสารพัฒนศิลป์วิชาการที่ดำเนินการจัดทำเป็นปีที่ 5 ฉบับที่ 2 ของปี 2564 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2564) เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการในสาขาวิชาปรัชญา กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นรูปแบบของการบริการแก่สังคมที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จัดทำขึ้นโดยไม่หวังผลกำไร ซึ่งฉบับนี้นำเสนอบทความจำนวน 9 เรื่อง ที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้าน ทั้งในมิติของวิธีวิจัยและเนื้อหาเชิงวิชาการ

    กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่ง บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารจะเป็นแนวทางในการสืบค้นข้อมูล ต่อยอดการพัฒนาของครู อาจารย์ นักวิชาการ ผู้สร้างสรรค์ผลงานตลอดจนผู้สนใจ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้สู่ความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ นำประโยชน์สู่สังคมและประเทศชาติต่อไป

  • มกราคม - มิถุนายน 2564
    ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (2021)

    วารสารพัฒนศิลป์วิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ดำเนินการจัดทำอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2564) มุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ในศาสตร์ศิลปะและการศึกษาอันเป็นรูปแบบหนึ่งของการบริการวิชาการแก่สังคม  ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จัดทำขึ้นโดยไม่หวังผลกำไร ในวารสารฉบับนี้เสนอบทความในลักษณะของบทความวิจัยและบทความวิชาการ จำนวน 6 เรื่อง ประกอบด้วย บทความเกี่ยวกับนาฏศิลป์สร้างสรรค์ จำนวน 3 เรื่อง และบทความเกี่ยวกับด้านดนตรี จำนวน 3 เรื่อง ทุกบทความได้รับการพิจารณากลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้าน เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาวารสารพัฒนศิลป์วิชาการให้มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการพัฒนาสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพแก่ครู อาจารย์ นักวิชาการ นักสร้างสรรค์งาน ตลอดจนผู้สนใจ เพื่อสร้างคุณค่าแก่สังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในการพัฒนาสร้างความรู้สู่สังคมและวงการศึกษาอย่างยั่งยืน

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2563
    ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (2020)

    การอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์งานศิลป์ มีความสำคัญต่องานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งนอกจากจะต้องอนุรักษ์สิ่งดีงามที่สั่งสมสืบต่อกันมาเป็นฐานรากสำคัญที่แข็งแรงแล้ว ต้องมีการสืบสานจากรุ่นสู่รุ่นให้เกิดความยั่งยืน พร้อมกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เป็นนวัตกรรมสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก ดังนั้นในวงวิชาการศึกษาด้านศิลปะ จึงต้องมีความครอบคลุมงานทั้ง ๓ ลักษณะ คือ งานอนุรักษ์ งานสืบสาน และงานสร้างสรรค์ ดังปรากฏชัดเจนจากบทความ ๙ เรื่อง ในวารสารปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๖๓) มีบทความที่น่าสนใจประกอบด้วยความหลากหลายของบทความงานวิจัย งานสร้างสรรค์ และนวัตกรรม โดยทุกบทความล้วนมุ่งประโยชน์สู่การนำไปใช้ในเชิงปฏิบัติและต่อยอดองค์ความรู้

    กองบรรณาธิการวารสารพัฒนศิลป์วิชาการตระหนักในความมุ่งมั่นพัฒนาผลงานทางวิชาการ ของครู อาจารย์ นักวิชาการ ผู้สร้างสรรค์ผลงานทุกท่าน ในการพัฒนางานวิชาการควบคู่กับการปฏิบัติภารกิจตามพันธกิจที่รับผิดชอบอย่างไม่หยุดยั้ง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความต่าง ๆ จากวารสารฉบับนี้จะก่อเกิดประโยชน์เพิ่มพูน เป็นแนวทางสร้างคุณค่าความก้าวหน้าในวงการศึกษาต่อไป

  • มกราคม - มิถุนายน 2563
    ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (2020)

    ปัจจุบันสถานการณ์โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตประชากรทั่วโลกมากกว่าหนึ่งล้านคน ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข การดำเนินชีวิตในสังคม รวมถึงด้านการศึกษาที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มีการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังเห็นได้ชัดเจนจากบทความจำนวน 9 เรื่อง ในวารสารฉบับที่ 1 ของปี 2563 (มกราคม – มิถุนายน 2563) ปรากฏบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์สู่การเรียนการสอนในระบบการศึกษาหลายบทความ อย่างไรก็ตามยังคงมีบทความในลักษณะงานสร้างสรรค์บนพื้นฐานของการต่อยอดองค์ความรู้จากการอนุรักษ์ด้านนาฏศิลป์ดนตรี โดยทุกบทความล้วนมุ่งประโยชน์ต่อวงวิชาการท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง

    กองบรรณาธิการวารสารพัฒนศิลป์วิชาการตระหนักในความมุ่งมั่นพัฒนาผลงานทางวิชาการและขอเป็นกำลังใจให้แก่ครู อาจารย์ นักวิชาการ ผู้สร้างสรรค์ผลงานทุกท่าน ในการทำหน้าที่พัฒนางานที่รับผิดชอบอย่างไม่หยุดยั้ง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณประโยชน์จากบทความต่าง ๆ ในวารสารฉบับนี้จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าในวงการศึกษาที่ต้องปรับตัวหาแนวทางในการสร้างคุณค่าทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมไทยและสังคมโลกให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืนต่อไป

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2562
    ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (2019)

    วารสารศิลป์พัฒน์วิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ดำเนินการจัดทำเป็นปีที่ 3 โดยเป็นฉบับที่ 2 ของปี 2562 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562) เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการในสาขาวิชาปรัชญา กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิ ครู อาจารย์ นักวิชาการตลอดจนผู้สร้างสรรค์งานศิลปะทั้งภายในและภายนอกสถาบัน เป็นรูปแบบหนึ่งของการบริการวิชาการแก่สังคมที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จัดทำขึ้นโดยไม่หวังผลกำไร สำหรับวารสารฉบับนี้นำเสนอบทความจำนวน 9 เรื่อง ที่มีความหลากหลายทางการศึกษาและศิลปะ อันเป็นผลงานส่วนหนึ่งที่สืบเนื่องจากการวิจัย ก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ ทุกบทความได้รับการพิจารณากลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้าน ทั้งในมิติของวิธีวิจัยและเนื้อหาเชิงวิชาการ เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาวารสารพัฒน์ศิลป์วิชาการให้มีคุณภาพและมาตรฐาน

    กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครู อาจารย์ นักวิชาการ ผู้สร้างสรรค์งานตลอดจนผู้สนใจจะได้รับประโยชน์จากวารสารฉบับนี้และเป็นแนวทางในการพัฒนาสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ เพื่อสร้างคุณค่าแก่สังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในการสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณค่าต่อสังคมและแวดวงการศึกษาต่อไป

  • มกราคม - มิถุนายน 2562
    ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (2019)

    วารสารพัฒนศิลป์วิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2562) เป็นวารสารเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการที่ครอบคลุมทั้งด้านนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์ ทัศนศิลป์ รวมทั้งด้านการศึกษา สำหรับเผยแพร่ผลงานของผู้ทรงคุณวุฒิ ครู อาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนผู้สร้างสรรค์งานศิลปะทั้งภายในและภายนอกสถาบัน โดยฉบับนี้นำเสนอบทความ จำนวน 9 เรื่อง ล้วนเป็นบทความจากการศึกษาค้นคว้าและการสร้างสรรค์งานในด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ด้านการศึกษา และด้านสังคมศาสตร์เชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ทุกบทความได้รับ  การพิจารณากลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้านในมิติของวิธีวิจัย การสร้างสรรค์งาน และเนื้อหาเชิงวิชาการ เพื่อให้บทความที่ผ่านการกลั่นกรองมีคุณภาพเป็นมาตรฐานก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เผยแพร่บทความและผู้สืบค้นความรู้

    กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกบทความที่ปรากฏในวารสารพัฒนศิลป์วิชาการ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน สร้างประกายความคิดเชิงวิชาการและงานสร้างสรรค์ เป็นแนวทางการสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณค่าต่อสังคมและแวดวงการศึกษาต่อไป

  • ฉบับพิเศษ 2561
    ปีที่ 2 (2018)

    วารสารพัฒนศิลป์วิชาการ ฉบับนี้ เป็นฉบับพิเศษ โดยบทความที่นำมาตีพิมพ์คัดเลือกจากผลงานวิชาการ ที่นำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรม เดอะ รอยัล ริเวอร์ จำนวน 30 บทความ ประกอบด้วยบทความด้านนาฏศิลป์ 8 เรื่อง ด้านดุริยางคศิลป์ 9 เรื่อง ด้านทัศนศิลป์ 7 เรื่อง และด้านการศึกษา 6 เรื่อง บทความทุกเรื่องได้ผ่านการตรวจคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะทาง รวมทั้งผู้เขียนบทความได้นำเสนอผลงานของตนเองบนเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติ ความหลากหลายของเนื้อหาและวิธีการวิจัยในบทความต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรฐานในการพิจารณากลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นส่วนสำคัญที่แสดงถึงคุณภาพและการพัฒนางานวิจัยในแวดวงการศึกษาด้านศิลปะและวิชาการด้านต่าง ๆ

    กองบรรณาธิการมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาวารสารพัฒนศิลป์วิชาการให้ได้คุณภาพ เพื่อให้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการศึกษา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักวิจัย ครู อาจารย์ นักศึกษา ที่จะใช้เป็นแหล่งเผยแพร่และสืบค้นองค์ความรู้ต่อไป

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2561
    ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (2018)

    วารสารพัฒนศิลป์วิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561) ประกอบด้วยบทความที่น่าสนใจในแวดวงวิชาการด้านการศึกษานาฏดุริยางคศิลป์ ด้านทัศนศิลป์ และด้านการศึกษาทั่วไป จำนวน 10 เรื่อง ด้านนาฏศิลป์เป็นผลงานสร้างสรรค์ 3 เรื่อง คือ 1) ชุดบันเทิงเริงรำ ลำนำเพลง 2) ชุดทวยขนัดสรรพสัตว์อสุรา และ 3) ชุดป๊ะเปิ้งเปิงมาง ด้านดนตรี 1 เรื่อง คือ การเป่าปี่ประกอบลำผู้ไทย ด้านทัศนศิลป์ 3 เรื่อง คือ 1) จินตภาพแห่งความฝันของมนุษย์และดอกไม้ 2) วิถีเกษตรกรรมไทย และ 3) การสื่อสารด้วยภาษาภาพในนิตยสารการ์ตูน  ขายหัวเราะฉบับ “รอยยิ้มของพระราชา” และมหาสนุกฉบับ “เมื่อเจ้าชายกลายเป็นพระราชา” ด้านการศึกษาทั่วไป 3 เรื่อง คือ 1) การเปรียบเทียบทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี ระหว่างการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน กับการจัดการเรียนรู้ตามคู่มือของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 2) การเปรียบเทียบแรงจูงใจในการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีแม่พิมพ์ (ต่อเนื่อง) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ 3) การพัฒนาและสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น : การจัดการเรียนรู้เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์การทอเสื่อจากถุงพลาสติกที่เหลือใช้ด้วยนวัตกรรมใหม่ระหว่างโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) กับชุมชนอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

    หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากวารสารฉบับนี้ นำไปสู่การพัฒนางานวิชาการให้มีความก้าวหน้า เพื่อผลสู่การบูรณาการการเรียนการสอนและงานวิจัยที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

  • มกราคม - มิถุนายน 2561
    ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (2018)

    วารสารพัฒนศิลป์วิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการในสาขาวิชาปรัชญากลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิ ครู อาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนผู้สร้างสรรค์งานศิลปะทั้งภายในและภายนอกสถาบัน อันเป็นรูปแบบหนึ่งของการบริการวิชาการแก่สังคม สำหรับวารสารฉบับนี้เป็นวารสารฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2561) นำเสนอบทความจำนวน 10 เรื่อง ประกอบด้วยด้านนาฏศิลป์สร้างสรรค์ จำนวน 3 เรื่อง ด้านดนตรีไทย จำนวน 2 เรื่อง ด้านทัศนศิลป์ จำนวน 2 เรื่อง และด้านการศึกษา จำนวน 4 เรื่อง ทุกบทความได้รับการพิจารณากลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้านในมิติของวิธีวิจัยและเนื้อหาเชิงวิชาการอย่างเข้มข้น เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาวารสารพัฒนศิลป์วิชาการให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกอ.)

    กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครู อาจารย์ นักวิชาการ ผู้สร้างสรรค์งานตลอดจนผู้สนใจจะได้รับประโยชน์จากวารสารฉบับนี้ นำสู่การพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อสร้างคุณค่าแก่สังคมไทยและประเทศชาติต่อไป

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2559
    ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (2016)

    วารสารพัฒนศิลป์วิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2559) นี้ มีบทความที่มีคุณภาพรวม 7 เรื่องด้วยกัน ได้รับความกรุณาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสถาบัน ช่วยกรุณาเป็นผู้พิจารณาผลงานที่ได้รับการลงพิมพ์ ขอขอบพระคุณท่านผู้ทรงคุณวุฒิที่กรุณาให้เกียรติเป็นผู้พิจารณาผลงาน ขอขอบคุณท่านเจ้าของผลงานที่ได้รับคัดเลือกลงพิมพ์ในวารสารฉบับนี้

    ท่านผู้อ่านมีคำแนะนำเกี่ยวกับวารสาร กรุณาส่งคำแนะนำของท่านมาถึงบรรณาธิการ เพื่อจะได้ทำสิ่งที่ท่านแนะนำไปพิจารณาปรับปรุงงานในฉบับต่อ ๆ ไป และขอเชิญชวนท่านผู้อ่านส่งบทความวิจัยหรือบทความที่ยังไม่เคยเผยแพร่ที่อื่นมาก่อน ไปให้ทางกองบรรณาธิการพิจารณาลงพิมพ์ต่อไป