การสร้างสรรค์การแสดงชุด ป๊ะเปิ้งเปิงมาง

ผู้แต่ง

  • ผศ. สมบูรณ์ พนเสาวภาคย์ และคณะ คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

คำสำคัญ:

ป๊ะเปิ้งเปิงมาง, การสร้างสรรค์การแสดง

บทคัดย่อ

การสร้างสรรค์การแสดงชุด ป๊ะเปิ้งเปิงมาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาและชาติพันธุ์ของชาวมอญ แนวคิด และองค์ประกอบในการสร้างสรรค์การแสดงชุด ป๊ะเปิ้งเปิงมาง โดยศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์ครูและผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบท่ารำตามลำดับ จากการศึกษาพบว่า ในอดีตชาติมอญเป็นชาติที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากแต่ถูกพม่ารุกรานเพราะต้องการศิลปวัฒนธรรมและขยายอาณาเขตทำให้ชาวมอญต้องหนีภัยสงครามอพยพไปประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อรวมถึงประเทศไทย โดยอาศัยอยู่ตามหัวเมืองชั้นนอก เช่น ปากเกร็ด พระประแดง เป็นต้น ชาวมอญที่อาศัยรวมกลุ่มอยู่ในไทยยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของตนเองไว้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เช่น การเล่นทะแยมอญ การรำมอญ รวมถึงวงปี่พาทย์มอญ เป็นต้น

          ผลงานสร้างสรรค์การแสดงชุด ป๊ะเปิ้งเปิงมาง มีแนวคิดการสร้างสรรค์โดยใช้เปิงมางเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง แบ่งการแสดงเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 แสดงลักษณะการตีเปิงมางของฝ่ายชาย ช่วงที่ 2 เป็นการร่ายรำแสดงวิถีชีวิตของหญิงสาวชาวมอญ และช่วงที่ 3 เป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวชาวมอญ กระบวนท่ารำนำโครงสร้างของท่ารำมอญพระประแดงและมอญปากเกร็ดมาปรับปรุงและประยุกต์ ตลอดจนสร้างสรรค์กระบวนท่ารำขึ้นใหม่โดยยังคงเอกลักษณ์ของท่ารำมอญ เพลงประกอบการแสดงประพันธ์ทำนองโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดุษฎี  มีป้อม การแต่งกายพัฒนามาจากการแต่งกายในวิถีชีวิตของชาวมอญ และการแต่งกายในงานประกวดนางสงกรานต์พระประแดง กระบวนท่ารำฝ่ายชายเป็นการแสดงวิธีการตีเปิงมางในลักษณะต่าง ๆ ส่วนฝ่ายหญิงเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวมอญ ได้แก่ ท่าการแต่งกาย ท่าพายเรือ ท่าเด็ดดอกไม้ และท่าการใช้ผ้าคล้องคอ

References

บุญศิริ นิยมทัศน์. (2543). รำมอญเกาะเกร็ด. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-30