ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาอาชีพช่างอุตสาหกรรมของนักเรียน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาอาชีพช่างอุตสาหกรรมของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก (2) ความสัมพันธ์ของแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ เจตคติต่อการเรียน การสนับสนุนจากผู้ปกครอง และมโนภาพแห่งตนกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ (3) ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาอาชีพช่างอุตสาหกรรม และสร้างสมการพยากรณ์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปีการศึกษา 2558 สังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก จำนวน 382 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามเกี่ยวกับแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ เจตคติต่อการเรียน และมโนภาพแห่งตน และการสนับสนุนจากผู้ปกครอง มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.89, 0.84 ,0.83 และ 0.81 ตามลำดับ แบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยปรากฏว่า (1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาอาชีพช่างอุตสาหกรรมของนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีพอใช้ (2) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ เจตคติต่อการเรียน การสนับสนุนจากผู้ปกครอง และมโนภาพแห่งตน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาอาชีพช่างอุตสาหกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ (3) ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาอาชีพช่างอุตสาหกรรม ได้แก่ เจตคติต่อการเรียน (X2) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (X1) และการสนับสนุนจากผู้ปกครอง (X3) โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ เท่ากับ .833 โดยร่วมกันพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ ร้อยละ 69.40 สามารถนำมาสร้างสมการพยากรณ์ในรูปคะแนนดิบได้ ดังนี้
= .704 + .311(X2) + .281(X1) + .229(X3) และในรูปคะแนนมาตรฐานได้ดังนี้
= .357(X2) + .320(X1) + .246(X3)