การปฏิรูปราชสำนักสยามในสมัยรัฐธรรมนูญ

Main Article Content

ปราการ กลิ่นฟุ้ง

บทคัดย่อ

บทความนี้ศึกษาการปฏิรูปราชสำนักสยามหลังการปฏิวัติ 2475 และเสนอว่าปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของราชสำนัก ได้แก่ แนวคิดว่าด้วยการปกครองในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างราชสำนักกับผู้นำรุ่นใหม่ ด้านหนึ่งนั้น ใจกลางของการปฏิรูปราชสำนักคือ การแยกองค์กษัตริย์และอำนาจในการจัดการควบคุมกิจการของราชสำนักออกจากกัน และทำให้กิจการราชสำนักกลายมาเป็นอำนาจของรัฐบาล กระบวนการดังกล่าวนั้นเริ่มต้นขึ้นไม่นานหลังการปฏิวัติ องค์กรของราชสำนักถูกปรับเปลี่ยนลดระดับการบริหารลง ไม่ได้มีสถานะเป็นกระทรวงดังเช่นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างไรก็ตาม ทั้งการบริหาร การจัดการกำลังคน และการงบประมาณ ยังถือว่าเป็นพระราชอำนาจดังเดิม จนกระทั่งศาลาว่าการพระราชวังถูกยกระดับให้กลับมาเป็นกระทรวงวังอีกครั้ง แนวทางการบริหารและการงบประมาณของราชสำนักจึงเริ่มถูกปรับเปลี่ยนไปตามแบบแผนข้างต้น กล่าวคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังกลายเป็นข้าราชการการเมืองที่ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่างจากรัฐมนตรีอื่นๆ อีกทั้งงบประมาณของกระทรวงวังที่เคยเป็นพระราชอำนาจก็ถูกโอนย้ายมาอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล กระบวนการเหล่านี้สอดคล้องกับหลักการ constitutional monarchy ที่ถือว่ากษัตริย์ไม่สามารถประกอบกิจการสาธารณะได้โดยพระองค์เอง ในอีกด้านหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในราชสำนักสยามเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งการปิดสภาผู้แทนราษฎร กบฏบวรเดช รวมทั้งการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปราชสำนักสยามครั้งใหญ่เป็นไปได้ และส่งผลให้ทั้งการบริหารและการงบประมาณของราชสำนักอยู่ภายใต้อำนาจการจัดการของรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ

Article Details

บท
บทความวิชาการ