จริยธรรมการตีพิมพ์
จริยธรรมของผู้เขียนบทความ
1. ผู้เขียนบทความต้องมีความรับผิดชอบและรับรองว่า บทความที่ส่งมาขอรับการตีพิมพ์ใน "วารสาร มจร กาญจนปริทรรศน์" จะต้องไม่เคยตีพิมพ์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อตีพิมพ์ในวารสารอื่น
2. ผู้เขียนบทความต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเสนอบทความเพื่อตีพิมพ์ใน "วารสาร มจร กาญจนปริทรรศน์" อย่างเคร่งครัด รวมทั้งระบบการอ้างอิงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของวารสาร
3. ผู้เขียนต้องปรับแก้บทความให้ถูกต้องตามรูปแบบของวารสารในหัวข้อ “คำแนะนำสำหรับผู้เขียน” โดยเฉพาะหัวข้อ รูปแบบการจัดเตรียมต้นฉบับ เพื่อให้บทความมีรูปแบบการตีพิมพ์ในมาตรฐานเดียวกัน
4. ผู้เขียนต้องคำนึงถึงจริยธรรมในการวิจัย ด้วยการไม่ละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน
5. ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฎในบทความต้องเป็นผู้มีส่วนในการจัดทำบทความหรือมีส่วนในการดำเนินการวิจัย บุคคลซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำบทความ จะไม่อนุญาตให้ใส่ชื่อในบทความเด็ดขาด หากมีการตรวจสอบพบว่า มีบุคคลที่ไม่มีส่วนร่วมในการจัดทำบทความปรากฏอยู่ กองบรรณาธิการจะถอนบทความนั้นทันที
6. ผู้เขียนต้องมีความรับผิดชอบในการอ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา ภาพหรือตาราง หากมีการนำมาใช้ในบทความของตนต้องระบุ “ที่มา” เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ หากมีการฟ้องร้องจะเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ทางวารสารจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น และจะดำเนินการถอนบทความออกจากการเผยแพร่ของวารสารทันที
7. ผู้เขียนต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการเอกสารอ้างอิง ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา, ไม่ควรนำเอกสารอื่นใดที่ไม่ได้ศึกษามาอ้างอิงหรือใส่ไว้ในบรรณานุกรม ควรอ้างอิงเอกสารเท่าที่จำเป็นเเละเหมาะสม รวมทั้งต้องอ้างอิงตามรูปแบบการอ้างอิงที่วารสารกำหนดไว้
8. ผู้เขียนต้องปรับแก้บทความตามผลประเมินจากผู้ประเมินบทความและกองบรรณาธิการ ให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด หากไม่เป็นไปตามที่กำหนด จะต้องเลื่อนการตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปหรืออาจถูกถอดถอนออกจากวารสาร
9. ผู้เขียนควรระบุชื่อแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนในการทำวิจัย (ถ้ามี) และควรระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)
10. ในบทความผู้เขียนต้องไม่รายงานข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อมูลเท็จหรือการปลอมแปลง บิดเบือน รวมถึงการตกแต่งหรือเลือกแสดงข้อมูลเฉพาะที่สอดคล้องกับข้อสรุป
11. ผู้เขียนไม่ควรอ้างอิงเอกสารที่ถูกถอดถอนออกไปแล้ว เว้นแต่ข้อความที่ต้องการสนับสนุนนั้นเป็นข้อความที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการถอดถอน และต้องระบุไว้ในเอกสารอ้างอิงด้วยว่า เป็นเอกสารที่ได้ถูกถอดถอนออกไปแล้ว
จริยธรรมของบรรณาธิการ
1. บรรณาธิการต้องกำกับ ติดตาม ดูแลให้การดำเนินงานของวารสาร เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ให้ถูกต้องตามจริยธรรม/จรรยาบรรณ ตามประกาศของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) เรื่องการประเมินด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI วันที่ 24 มิถุนายน 2562
2. บรรณาธิการต้องกำกับ ติดตาม ดูแลและดำเนินการอย่างเหมาะสมกับผู้นิพนธ์หรือบทความที่ตรวจพบว่า มีการกระทำผิดด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณ เช่น การละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
3. บรรณาธิการต้องกำกับ ติดตาม ดูแลการตีพิมพ์เผยแพร่บทความที่มี Conflict of Interest เช่น การตีพิมพ์เผยแพร่บทความของตนเอง (บรรณาธิการบริหารหรือหัวหน้ากองบรรณาธิการ) อย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่มีการตรวจสอบคุณภาพบทความก่อนการตีพิมพ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบทความ เป็นต้น
4. บรรณาธิการมีหน้าที่ควบคุม ดูแลและพิจารณาคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร และต้องคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความชัดเจนและความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ และต้องมีข้อความรู้ที่สะท้อนมุมมอง แนวคิดเชิงทฤษฎีที่ได้จากประสบการณ์ การสังเคราะห์เอกสาร หรืองานวิจัย ที่มุ่งเน้นการนำเสนอแนวคิดทฤษฎีใหม่ รวมถึงแบบจำลองเชิงแนวคิด (Conceptual Model) ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันจะนำไปสู่การวิจัยในหัวข้อวิชาการที่สำคัญ
5. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนและผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาของการประเมินบทความ ซึ่งวารสารได้กำหนดในลักษณะปกปิดรายชื่อ (Double-blind Peer Review)
6. บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว โดยต้องมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรม CopyCatch เว็บ ThaiJO ในระดับไม่เกิน 20% เพื่อให้แน่ใจว่า บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น และหากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น เกินตามที่กำหนดไว้ จะต้องหยุดกระบวนการประเมินและติดต่อผู้เขียนบทความหลักทันที เพื่อขอคำชี้แจงในการประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น
7. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนและผู้ประเมินอย่างเด็ดขาด เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด
8. บรรณาธิการต้องไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง
9. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้องและให้ผลที่น่าเชื่อถือ โดยนำผลของการวิจัยมาเป็นตัวชี้นำว่า สมควรตีพิมพ์เผยแพร่หรือไม่
10. หากบรรณาธิการตรวจพบว่า บทความมีการลอกเลียนบทความอื่นโดยมิชอบหรือมีการปลอมแปลงข้อมูล ซึ่งสมควรถูกถอดถอน แต่ผู้เขียนปฏิเสธที่จะถอนบทความ บรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ
11. หัวหน้ากองบรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาความสามารถในการมอบหมายงานให้ตรงกับความสามารถของบรรณาธิการแต่ละท่าน
12. บรรณาธิการต้องกำกับติดตามดูแล ทั้งด้วยตนเองและคณะทำงานในเรื่องจำนวนและคุณภาพการอ้างอิงของวารสารที่ผิดไปจากสภาพความเป็นจริง เช่น การกำกับและร้องขอให้มีการอ้างอิงบทความในวารสาร ทั้งในลักษณะลับหรือเปิดเผย และมีการใช้อ้างอิงที่ไม่ถูกต้องและสอดคล้องกับเนื้อหา
13. บรรณาธิการต้องกำกับ ติดตาม ดูแลการเก็บค่า Page Charge หรือ Processing Fee ซึ่งต้องดำเนินการอย่างโปรงใส เช่น กำหนดให้มีการประกาศกระบวนการเรียกเก็บอย่างชัดเจน ระบุค่าตีพิมพ์หรือเงื่อนไขการเรียกเก็บค่า Page Charge ตามที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด
จริยธรรมของผู้ประเมินบทความ
1. ผู้ประเมินบทความควรมีจรรยาบรรณในการรับประเมินบทความที่ตนเองมีความถนัด หรือมีคุณวุฒิ หรือสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญเนื้อหาที่มีต่อสาขาวิชานั้น ๆ รวมถึงคุณภาพของการวิเคราะห์ ความเข้มข้นของผลงาน เเละควรระบุผลงานวิจัยที่สำคัญหรือสอดคล้องกับบทความ ซึ่งผู้เขียนไม่ได้อ้างถึงไว้ในการประเมินด้วย เเต่ผู้ประเมินไม่ควรเเสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์การตัดสินบทความ
2. ผู้ประเมินบทความควรมีจรรยาบรรณในการแนะนำความคิดเห็นทางวิชาการของตนเอง ลงในแบบฟอร์มการประเมินหรือเนื้อหาในบทความด้วยความยุติธรรม ไม่อคติ รวมทั้งตรงต่อเวลาตามที่วารสารกำหนดในการประเมิน
3. ผู้ประเมินบทความควรมีจรรยาบรรณในการรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมา เพื่อพิจารณาให้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ รวมถึงหลังจากที่พิจารณาประเมินบทความเสร็จแล้ว
4. หลังจากได้รับบทความจากบรรณาธิการเเล้ว ผู้ประเมินบทความได้ตระหนักว่า ตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนซึ่งไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น
5. ผู้ประเมินบทความควรคำนึงถึงการพิจารณาในหัวข้อ ชื่อเรื่อง หากเป็นบทความวิชาการสามารถพิจารณาให้แก้ไขชื่อเรื่องได้ แต่หากเป็นบทความวิจัยควรพิจารณาเฉพาะความผิดพลาดด้านตัวสะกด และไม่ความพิจารณาให้เปลี่ยนชื่อเรื่องบทความวิจัย
6. ผู้ประเมินบทความต้องไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง
7. เมื่อผู้ประเมินบทความพบว่า มีส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความที่มีความเหมือนกันหรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ พร้อมแสดงหลักฐานให้เห็นเป็นประจักษ์