ผลงานการแสดงสร้างสรรค์ชุด ลูกช่วงพวงมาลัย
คำสำคัญ:
การแสดงสร้างสรรค์, ลูกช่วง, เพลงพวงมาลัยบทคัดย่อ
ผลงานวิจัยสร้างสรรค์ชุด ลูกช่วงพวงมาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติ ที่มา รูปแบบการละเล่นเพลงพวงมาลัย บ้านจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และสร้างสรรค์ชุดการแสดง ลูกช่วงพวงมาลัย โดยนำองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การพัฒนาในรูปแบบนาฏดุริยางคศิลป์ไทย นำเสนอการแสดงเพื่อการสืบทอดและเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยศึกษาค้นคว้าจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์ศิลปินภูมิปัญญา ลงมือฝึกปฏิบัติและสร้างสรรค์ผลงาน ผลการวิจัยพบว่า 1) องค์ความรู้ของเพลงพวงมาลัย เพลงพื้นบ้านของบ้านจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยศิลปินภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูบัว สังข์วรรณะ เป็นเพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นขับร้องและเล่นกันมานานราวเกือบสองร้อยปี มีลักษณะเฉพาะที่มีความไพเราะ นุ่มนวล อ่อนหวานด้วยสำเนียงเหน่อของพื้นถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี มีพ่อพวง แม่พวง หรือพ่อเพลง แม่เพลง รวมทั้งหนุ่มสาวต่างมาร่วมเล่น โดยมีการละเล่นของไทยที่เรียกว่าลูกช่วงหรือช่วงชัย ซึ่งเป็นกีฬาท้องถิ่นที่ใช้ผ้าผูกมัดให้เป็นรูปกลม ๆ ปล่อยชายผ้าเป็นหาง วิธีการเล่นคือ แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่ายมีเขตแดนกั้นกลาง ที่เรียกว่ากลางแดน แต่ละฝ่ายโยนลูกช่วงส่งให้กัน โดยต้องรับลูกช่วงนั้นให้ได้ หากรับไม่ได้จะมีการปรับโทษ โดยให้ออกมาร้องและเล่นพวงมาลัยสลับกันไปอย่างสนุกสนาน 2) นำรูปแบบการแสดงเพลงพวงมาลัยของชาวบ้านมาสร้างสรรค์ตามรูปแบบกระบวนการสร้างสรรค์งานด้านนาฏศิลป์ไทย โดยใช้หลักการสร้างสรรค์งาน เพิ่มแนวคิด จินตนาการ ความรอบรู้ การใช้จิตวิทยาที่จะช่วยผลักดันให้ผลงานสมบูรณ์สวยงามเกิดความประทับใจน่าชื่นชม 3) รูปแบบการแสดง คือนำการละเล่นลูกช่วงและการขับร้องเพลงพวงมาลัยนำมาผสมผสานกันจนเกิดเป็นชุดการแสดงที่มีความสนุกสนาน โดยใช้ผู้แสดงทั้งชายและหญิงนำเสนอผ่านท่าทางนาฏศิลป์ไทย มีท่วงทำนองของดนตรีอันไพเราะบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์และวงกลองยาว ให้อารมณ์ครึกครื้น เร้าใจ
References
เกลียว เสร็จกิจ. ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงอีแซว). สัมภาษณ์, 12 กรกฎาคม 2558.
ชาญเดช อุปการะ และคณะ. (2551). การละเล่นเพลงพวงมาลัย คณะครูบัว สังข์วรรณะ ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. ศิลปนิพนธ์ศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีคีตศิลป์ไทยศึกษา คณะศิลปศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์.
บัว สังข์วรรณะ. ศิลปินภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเพลงพวงมาลัย. สัมภาษณ์, 20 กรกฎาคม 2558.
วิบูลย์ ศรีคำจันทร์. (2537). เพลงพวงมาลัยการศึกษาเชิงวิเคราะห์. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร.
สุกัญญา สุจฉายา. (2546). บทเพลงแห่งปฏิภาณของชาวบ้านไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุมามาลย์ เรืองเดช. (2518). เพลงพื้นเมืองจากพนมทวน. กรุงเทพฯ: ครุสภาลาดพร้าว.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ สบศ.