บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ

  1. ผู้เขียนบทความต้องรับรองผลงานว่าจะไม่ส่งบทความที่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน และไม่ส่งต้นฉบับบทความที่ซ้ำซ้อนกับวารสารอื่นๆ
  2. ผู้เขียนบทความต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรมการวิจัย เคารพผลงานของผู้อื่น และไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง โดยไม่มีการอ้างอิง และต้องผ่านการตรวจโปรแกรมการคัดผลงานทางวิชาการ ด้วยโปรแกรม CopyCatch เว็บไซต์ Thaijo โดยวารสารกำหนดค่าไว้ในระดับ ไม่เกิน 30%
  3. ผู้เขียนบทความต้องดำเนินการจัดทำต้นฉบับบทความตามกฎเกณฑ์ของวารสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำสำหรับผู้เขียนบทความอย่างเคร่งครัด
  4. ผู้เขียนบทความทุกคนที่มีชื่อในบทความนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย หรือทำการศึกษาวิจัยจริง ข้อมูลผลงานนั้นต้องไม่เป็นเท็จ
  5. ผู้เขียนบทความต้องอ้างอิงผลงาน ภาพ หรือตาราง ถ้าหากนำมาใช้ในบทความของตนเอง โดยระบุ “ที่มา” เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ (หากมีการฟ้องร้องจะเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว)
  6. ผู้เขียนบทความต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการเอกสารอ้างอิง และควรอ้างอิงเอกสารเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม ไม่ควรอ้างอิงเอกสารที่มากจนเกินไป หรือเก่าเกินไป และต้องมีความสัมพันธ์กันทั้งในเนื้อหา และท้ายเล่ม
  7. ผู้เขียนบทความต้องปรับหรือแก้ไขบทความที่ตีพิมพ์ให้เป็นไปตามรูปแบบของวารสารและรูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิงตามที่วารสารกำหนดโดยเคร่งครัด
  8. ผู้เขียนบทความต้องแก้ไขบทความตามคำแนะนำหรือตามผลการประเมินบทความจากคณะผู้ประเมินบทความของกองบรรณาธิการ หากไม่ดำเนินการแก้ไขตามคำแนะนำและตามเวลาที่กำหนด วารสารขอสงวนสิทธิ์ไม่ตอบรับบทความของท่านมาตีพิมพ์และไม่ขอคืนค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
  9. ผู้เขียนบทความต้องระบุแหล่งที่มาทุนที่ให้การสนับสนุนในการทำวิจัย (ถ้ามี)
  10. ไม่ควรอ้างอิงถึงบทความที่ถูกเพิกถอนใด ๆ เว้นแต่ข้อความที่อ้างถึงจะอ้างถึงในขั้นตอนการยกเลิก ต้องมีคำชี้แจงเพิ่มเติมในการอ้างอิงดังกล่าวว่าเป็น "บทความที่ถูกเพิกถอน"

 

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่ กำกับและควบคุมคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร และต้องคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความชัดเจน มีความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสาร และบริหารงานวารสารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารวิชาการไทย (TCI) กำหนด
  2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนบทความ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ และต้องรักษาไว้เป็นความลับ
  3. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น อย่างจริงจัง เพื่อให้มั่นใจว่า บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น และหากตรวจพบว่ามีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น จะต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้เขียนบทความหลักทันที เพื่อขอคำชี้แจง ประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น
  4. บรรณาธิการต้องมีจรรยาบรรณหรือใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความโดยไม่มีอคติไม่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อผู้เขียนบทความ
  5. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความ และผู้ประเมินบทความ
  6. บรรณาธิการไม่ควรตอบรับบทความที่ยังไม่ผ่านกระบวนการประเมินจากผู้ประเมินบทความ
  7. บรรณาธิการต้องเลือกผู้ประเมินบทความให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญตรงกับบทความนั้นๆอย่างเคร่งครัด
  8. หากบรรณาธิการตรวจพบว่า บทความมีการลอกเลียนบทความอื่นโดยมิชอบ หรือมีการปลอมแปลงข้อมูล ซึ่งสมควรถูกถอดถอน แต่ผู้เขียนบทความปฏิเสธที่จะถอนบทความนั้น บรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความต้องมีจรรยาบรรณและรักษาความลับ ไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  2. ผู้ประเมินบทความต้องคำนึงถึงคุณภาพของบทความเป็นหลัก โดยยึดหลักวิชาการและให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของวารสาร และต้องประเมินบทความให้เป็นตามรูปแบบการประเมินของวารสารอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีอคติใด ๆ ทั้งสิ้น
  3. ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาจากความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่มีต่อสาขาวิชานั้น ๆ คุณภาพของการวิเคราะห์ และความเข้มข้นของผลงานหรือระบุผลงานวิจัยที่สำคัญ ๆ และสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน แต่ผู้เขียนบทความไม่ได้อ้างถึง เข้าไปในการประเมินบทความด้วย ผู้ประเมินบทความไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ
  4. ผู้ประเมินบทความจะต้องไม่นำข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง
  5. ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที หากพบว่า มีส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ ที่มีความเหมือนกัน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ
  6. ผู้ประเมินบทความต้องประเมินบทความตามแบบประเมินอย่างเคร่งครัด ถ้าหากมีข้อเสนอแนะนอกเหนือประเด็นตามแบบประเมิน สามารถเสนอเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน
  7. ผู้ประเมินบทความต้องมีความรู้ความเข้าใจและเชี่ยวชาญในเนื้อหาของผลงานที่ตนเองประเมิน ถ้าไม่เชี่ยวชาญผู้ประเมินสามารถปฏิเสธที่จะประเมินบทความเรื่องนั้นให้บรรณาธิการทราบทันที