การพัฒนากฎหมายเพื่อการขนส่งของทางทะเล

Main Article Content

อนันต์ เพียรวัฒนะกุลชัย

บทคัดย่อ

          


               การวิจัยนี้มุ่งศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งทางทะเลตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 เนื่องจากบัญญัติมาเป็นระยะเวลานานแล้วจึงทำให้มีบทบัญญัติไม่เป็นสากลและไม่สอดคล้องกับประเพณีปฏิบัติในทางการค้าระหว่างประเทศ จึงต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับประเพณีปฏิบัติหรือรูปแบบในทางการค้าดังกล่าว


               จากการศึกษาพบว่า บทบัญญัติเกี่ยวกับคำจำกัดความของผู้ขนส่งและสัญญารับขนของทางทะเลไม่สอดคล้องกับประเพณีปฏิบัติทางการค้า เพราะกำหนดให้องค์ประกอบการเป็นผู้ขนส่งและสัญญารับขนของทางทะเลจะต้องเป็นการทำสัญญาระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ส่งของเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นผู้ขนส่งและมีสถานะเป็นผู้ขนส่ง ถ้าผู้ขนส่งทำสัญญารับขนของทางทะเลกับบุคคลอื่นนอกจากผู้ส่งของ ผู้ขนส่งย่อมไม่มีสถานะเป็นผู้ขนส่ง แต่เป็นผู้รับจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ขนส่งก็จะต้องกระทำให้การว่าจ้างสำเร็จโดยไม่ได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 กำหนดไว้ ซึ่งการทำสัญญารับขนของทางทะเลนั้นมิใช่แต่ผู้ขนส่งจะต้องทำสัญญากับผู้ส่งของเท่านั้น ในบางกรณีก็ต้องทำสัญญากับผู้รับของหรือผู้รับตราส่งถ้าเป็นกรณีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการส่งมอบสินค้า หรือเงื่อนไขการส่งมอบสินค้าตาม Incoterms (International Commercial Terms) โดยเฉพาะในเทอม E และกลุ่ม F ที่ผู้รับของจะต้องเป็นผู้ว่าจ้างเรือในการขนส่งของเอง ดังนั้นถ้าผู้ขนส่งทำสัญญารับขนในสองเทอมนี้กับผู้รับของ ผู้ขนส่งก็ไม่ได้อยู่ในสถานะเป็นผู้ขนส่ง จึงก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ขนส่งในการได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 และไม่สอดคล้องกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวที่จะต้องครอบคลุมการขนส่งของทางทะเลทุกกรณี เพราะเป็นกฎหมายการขนส่งของทางทะเลโดยตรง นอกจากนั้น เพื่อให้สถานะหรือฐานะของคู่สัญญามีความชัดเจนจึงต้องนำรูปแบบของผู้ขนส่งและผู้ขนส่งที่แท้จริงมาใช้กับพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 และให้ยกเลิกการใช้รูปแบบของผู้ขนส่งอื่นที่มีสถานะไม่ชัดเจนและจะต้องนำหลักการตัวการ ตัวแทนมาใช้บังคับแท้ที่จะใช้พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 บังคับจะสอดคล้องกับแนวคิดการขนส่งของทางทะเลมากกว่า และยังต้องกำหนดให้อำนาจแก่ผู้ขนส่งเพื่อเข้าไปตรวจสอบและจัดการของที่เป็นอันตรายในการขนส่ง นอกจากกรณีข้างต้นแล้ว ยังต้องมีการปรับปรุงมาตรา 4 เกี่ยวกับขอบเขตการบังคับใช้โดยใช้หลักของความรับผิดชอบหรือภาระหน้าที่มาใช้กำหนดขอบเขตการบังคับใช้พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 เพื่อให้การบังคับใช้กว้างขวาง มิใช่นำหลักการแบ่งเขตแดนทางทะเลมาเป็นแนวทางบังคับใช้ เพราะเป็นการยากที่จะกำหนดเขตแดนทางทะเลที่แน่นอนในการบังคับใช้กฎหมายและเขตแดนทางทะเลของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านยังมีการทับซ้อนอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ และยังจะต้องกำหนดให้นำรูปแบบการคำนวณค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ของหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDR) แทนรูปแบบการคำนวณโดยใช้ค่าเงินบาทตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 ด้วย


             จากการศึกษาขอเสนอแนะว่า ควรปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยขอบเขตการบังคับใช้ คำจำกัดความของคำว่า “ผู้ขนส่ง” “สัญญารับขนของทางทะเล” “ผู้ขนส่ง” “ผู้ขนส่งที่แท้จริง” “หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” และให้ยกเลิกคำจำความของ “ผู้ขนส่งอื่น” นอกจากนั้นให้เพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจของผู้ขนส่งในการจัดการของที่เป็นอันตราย  การนำรูปแบบการคำนวณหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินมาบัญญัติไว้ในมาตรา 58 และเพิ่มเติมบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงในประเด็นข้างต้น

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. กมล สนธิเกษตริน. (2550). รายงานการประชุมร่างพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.

2. จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา. (2543). หลักการขนส่ง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

3. ไชยยศ ไชยมั่นคง และอารีย์ พิจิตรกล้าเอี่ยม. (2551). หน่วยที่ 10 การขนส่งสินค้าทางทะเล (พิมพ์ครั้งที่ 9). นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

4. ไผทชิต เอกจริยกร. (2557). คำอธิบายรับขนของทางทะเล (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

5. สุวัชชัย ใจข้อ และปุณฑริก ศุภอมรกุล. (2552). การปรับปรุงการบันทึกสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights) และผลกระทบต่อการจัดทำข้อมูล. กรุงเทพฯ: ธนาคารแห่งประเทศไทย.