ทำนองลำสวดพระมาลัยของชาวบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
Main Article Content
บทคัดย่อ
ทำนองลำสวดพระมาลัยของชาวบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ผู้วิจัยใช้หลักการวิจัยทาง มนุษยดุริยางควิทยา ( Ethnomusicology ) กำหนดจุดมุ่งหมายของการวิจัยไว้ 3 ข้อ ผลการวิจัยพบว่า
- ประวัติความเป็นมาของคณะลำสวด และประเพณีลำสวดพระมาลัยของชาวบางสระเก้า ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2520 มีสมาชิกเริ่มต้น 10 คน แต่เดิมเป็นการสวดพระมาลัยโดยร่วมอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายไม่มีค่าตอบแทน ปัจจุบันมีการรับค่าตอบแทน คืนละ 3,500 บาทขึ้นไป สมาชิกทุกท่านสามารถรับงานแสดงได้ ประเพณีการแสดงลำสวดมีขั้นตอนการแสดง คือ เริ่มจากพิธีไหว้ครู สวดบทพระมาลัยกรณีบทต้น บทพระมาลัย และบทเปรตสั่ง ความเชื่อของการแสดงลำสวด คือ ห้ามฝึกหัดลำสวดในบ้าน ห้ามนำพระมาลัยเข้าบ้านยกเว้นมีงานศพเท่านั้น
2.องค์ความรู้ที่บันทึกเป็นโน้ตไทยและโน้ตสากลทำนองลำสวดพระมาลัยชาวบางสระเก้า แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ หมวดบทพระมาลัยกรณีบทต้น มีจำนวน 2 บทเพลง หมวดพระมาลัย มีจำนวน 27 บทเพลง และหมวดบทเปรตสั่ง มีจำนวน 3 บทเพลง
3.รูปแบบของบทสวดพระมาลัย มีโครงสร้างของทำนองสวด แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ หมวดกรณีบทต้น เป็นบทบาลีและบทแปล ต้นเสียงจะนำบทบาลีเป็นทำนองสวด และลูกคู่จะรับทำนองสวดผสมกับบทบาลีและบทแปลต่อเนื่องกันไปจนกระทั่งจบแต่ละบท หมวดบทพระมาลัย จะมีโครงสร้างลักษณะเป็นท่อนเพลง 1 ท่อน ต้นเสียงจะขึ้นนำ 4 – 8 ห้องเพลง ลูกคู่รับทำนองสวดและบทพระมาลัยผสมผสานกัน โดยใช้ทำนองเดิมที่กำหนดไว้ในแต่ละบท และเปลี่ยนบทสวดครั้งละ 1 บาท หรือ 1 บทตามความยาวของบทสวด เพลงละ 4 – 12 เที่ยว ส่วนหมวดบทเปรตสั่ง จะใช้ทำนองเพลงที่มีโครงสร้าง 1 และ 2 ท่อน ขับร้องตามบทสวด และมีทำนองรับหลังจากจบแต่ละบทตามท่อนเพลงที่ขับร้อง
บันไดเสียงที่ใช้ในบทสวดและบทเพลงพระมาลัยของคณะชาวบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยบันไดเสียง โด, มี, ฟา, ซอล, ลา และที
ความหมายและคุณค่าทางวัฒนธรรมของบทพระมาลัย ในบทพระมาลัยที่คณะลำสวด ชาวบางสระเก้าที่ใช้สวด จะกล่าวถึงพระมาลัยซึ่งเป็นพระอรหันต์ ได้เสด็จลงไปยังนรก เพื่อโปรดบรรดาเปรตทั้งหลาย ซึ่งได้รับผลกรรมต่างๆ ที่ตนได้ทำเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ บรรดาเปรตทั้งหลายได้สั่งความกับพระมาลัย ให้นำความทุกข์ที่ตนได้รับนั้นมาบอกแก่ญาติยังเมืองมนุษย์ เพื่อให้เร่งทำความดีและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ เพื่อจะได้พ้นทุกข์ คุณค่าของบทพระมาลัยนี้ ส่งผลถึงวัฒนธรรมของ คนไทย ให้ทำความดี ละเว้นความชั่ว เมื่อมีญาติทั้งหลายเสียชีวิต ก็จะมีประเพณีบำเพ็ญกุศล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่วายชนม์ไป ซึ่งเป็นประเพณีที่ดีจนถึงปัจจุบัน
Article Details
References
2. นีรนุช นิรุตติศาสตร์. (2551). กรณีศึกษาคณะนางรําหนาศพ ตําบลทางเกวียน อําเภอแกลง จังหวัดระยอง. ปริญญานิพนธ์ ศป.ม. (มานุษยดุริยางควิทยา). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. เอกสารสำเนา.
3. ปัญญา รุ่งเรือง. (2521). ประวัติการดนตรีไทย. กรุงเทพ ฯ : ไทยวัฒนาพานิช.
4. ประสาน ธัญญะชาติ. (2554). การศึกษาวิเคราะห์บทไหว้ครูรำสวดจังหวัดจันทบุรี. จันทบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี.'
5. มานพ วิสุทธิแพทย์. (2533). ดนตรีไทยวิเคราะห์. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์.
6. สุพัตรา สุภาพ. (2523). สังคมและวัฒนธรรมไทย ครอบครัว ศาสนา ประเพณี. กรุงเทพ ฯ : ไทยวัฒนาพานิช.