การถอดบทเรียนการจัดการป่าชุมชน : กรณีศึกษาป่าชุมชนบ้านตะเกราทอง หมู่ 6 ตำบลบ้านแลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

Main Article Content

ปวีณา วงศ์หงษ์
จินตนา อมรสงวนสิน
ณัฐพล จันทร์แก้ว

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ 1) เพื่อศึกษาลักษณะภูมิประเทศและพรรณไม้ที่มีศักยภาพลดมลพิษในอากาศของป่าชุมชนบ้านตะเกราทอง 2) เพื่อศึกษาวิธีการจัดการป่าชุมชนบ้านตะเกราทอง ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 3) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการจัดการป่าชุมชนบ้านตะเกราทอง และ 4) เพื่อเสนอแนะการจัดการป่าชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนที่สนใจ ทำการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชน และระบบภูมิสารสนเทศเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และข้อมูลภาคสนาม สรุปผลพรรณนาเชิงวิเคราะห์ และ TOWS Matrix เพื่อให้ทราบถึงรูปแบบการจัดการป่าชุมชนบ้านตะเกราทอง รวมถึงข้อเสนอแนะในการจัดการป่าชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนที่สนใจ


            ผลการศึกษาพบว่า 1) พื้นที่ป่าชุมชนบ้านตะเกราทองเป็นป่าดิบแล้ง มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงที่วางตัวในแนวเหนือใต้มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,733 เมตร พื้นที่ตอนบนมีความลาดชัน เฉลี่ย 87 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ตอนกลางซึ่งมีลักษณะเป็นไหล่เขามีความลาดชันเฉลี่ย 65 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ตอนล่างซึ่งเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขาจะมีความลาดชันเฉลี่ย 54 เปอร์เซ็นต์ มีลักษณะภูมิอากาศ แบบมรสุมเขตร้อน ลมทะเลพัดผ่านตลอดปี ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปี ทำให้อากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ในป่าสูงเกือบตลอดปีและมีลมพัดผ่านค่อนข้างแรงในฤดูหนาว พบชนิดของพรรณไม้ในเส้นทางสำรวจทั้งหมด 45 ชนิด พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ต้นจำนวน 34 ชนิด รองลงมาเป็นไม้เถาหรือไม้เลื้อยจำนวน 5 ชนิด ไม้ล้มลุกจำนวน 4 ชนิด และไม้พุ่มจำนวน 3 ชนิด มีศักยภาพในการลดออกไซด์ของไนโตรเจน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โอโซน จำนวน13 ชนิด มีศักยภาพ ในการลดสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายโพลีคลอริเนตเตดไบฟีนิล (พีซีบี) ไดออกซินฟูแรน จำนวน 5 ชนิด และมีศักยภาพในการลดฝุ่นละออง จำนวน 5 ชนิด เป็นได้ทั้งกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 จำนวน 12 ชนิด และเป็นได้ทั้งกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 จำนวน 10 ชนิด 2) การจัดการป่าชุมชนบ้านตะเกราทองมีรูปแบบการทำงานของคณะกรรมป่าชุมชน ที่มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถทำงานร่วมกันได้ดี ถึงแม้จะไม่มีแบบแผนแต่อาศัยความเข้าใจกันของคนในชุมชน 3) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการจัดการป่าชุมชน คือการมีส่วนร่วมของชุมชน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุน 4) การจัดการป่าชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนที่สนใจ คณะกรรมการป่าชุมชนควรจัดประชุมพิจารณาร่างกลยุทธ์แผนงาน กฎระเบียบให้เป็นลายลักษณ์อักษร ผู้นำควรกระจายงานให้กับคนในชุมชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการที่บริหารจัดการและสร้างชุมชนต้นแบบสังคมสีเขียวยกระดับชุมชนสู่การเป็นชุมชนและท้องถิ่นน่าอยู่อย่างยั่งยืนตามตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2556). ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. ค้นวันที่ 16 มิถุนายน 2558 เข้าถึงได้จาก : http://www.qsbg.org/database/plantdb/index.asp.
2. ฉวีวรรณ ยอดอินทร์. (2551). การจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาป่าชุมชนหนองเสม็ด ตำบลกระหาด อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์. ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการสิ่งแวดล้อม) สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์
3. ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านแลง. (2558). ป่าชุมชนบ้านตะเกราทอง. ใน เอกสารประกอบการพิจารณาเพื่อตัดสินรางวัลป่าชุมชนระดับประเทศ โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี พ.ศ.2558. หน้า 1-25.
4. วรชัย ทองไทย. (2554). ประชากรและสังคม 2554. นครปฐม: โรงพิมพ์เดือน
5. เสน่ห์ จามริกและคณะ. (2536). ป่าชุมชนในประเทศไทย: แนวทางการพัฒนา. เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา.
6. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2556). ระบบฐานข้อมูลพรรณไม้ที่เหมาะสมกับระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนเพื่อลดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยองและพื้นที่ใกล้เคียงภายใต้โครงการชุมชนอยู่คู่อุตสาหกรรม. ค้นวันที่ 7 มิถุนายน 2559 เข้าถึงได้จาก : http://onepintranet.onep.go.th/ plant/ main_report.php.