การศึกษาคุณสมบัติยางพาราแผ่นดิบอบแห้งด้วยโรงอบแห้งเทคโนโลยีชาวบ้าน

Main Article Content

ทรงศักดิ์ มิ่มกระโทก
กชกร มิ่มกระโทก

บทคัดย่อ

การศึกษาคุณสมบัติยางพาราแผ่นดิบอบแห้งด้วยโรงอบแห้งเทคโนโลยีชาวบ้าน  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการผึ่งแห้งยางพาราแผ่นดิบของเกษตรกรสวนยาง ศึกษาแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาโรงอบแห้งยางพาราแผ่นดิบโดยเทคโนโลยีชาวบ้าน และศึกษาคุณสมบัติยางพาราแผ่นดิบอบแห้งด้วยโรงอบแห้งเทคโนโลยีชาวบ้าน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เกษตรกรที่ปลูกยางพารา จังหวัดจันทบุรี การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม การสังเกต การสัมภาษณ์ และการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูล และ  การแปลผลความหมายโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ


ผลการวิจัย พบว่า


            การทำยางพาราแผ่นดิบคุณภาพชั้นหนึ่ง กระบวนการที่สำคัญคือ การกรองน้ำยางสดไม่ให้ มีตะกอนสิ่งสกปรกปนในแผ่นยางพารา ปริมาณน้ำกรดที่ใช้พอดีกับการจับตัวของน้ำยาง จะทำให้ยางพารามีสีเหลืองใส การกวาดฟองน้ำยางป้องกันการเกิดฟองในแผ่นยาง การรีดยางด้วยเครื่องรีดลื่น และเครื่องรีดลายให้มีความบาง และการอบแห้งในโรงอบโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยโรงอบต้องปิดมิดชิดป้องกันอากาศถ่ายเท โดยช่วงสุดท้ายจะให้ความร้อนจากการเผาฟืนไม้ เพื่อให้ยางพาราแห้งสนิทไม่มีราในแผ่นยาง


            โรงอบยางพาราแผ่นดิบ เป็นโรงเรือนชั้นเดียว พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐบล็อกฉาบปูน โครงหลังคาเหล็กมุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ทึบสลับใสโปร่งแสง เพื่อให้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ถ่ายเทให้ยางพาราแผ่นดิบระเหยความชื้นมากที่สุด โดยโรงเรือนจะต้องปิดมิดชิดป้องกันอากาศถ่ายเท ไม่ให้เกิดเชื้อราและแผ่นยางพารามีสีดำ ภายในโรงเรือนตรงกลางจะมีท่อรับพลังงานความร้อนจากการเผาฟืนไม้แห้ง เป็นการเร่งระบายความชื้นออกจากแผ่นยางพารา ทำให้แผ่นยางพารามีสีเหลืองใส ไม่มีเชื้อราเกาะแผ่นยางพารา


            คุณสมบัติยางพาราแผ่นดิบ ด้านปริมาณสิ่งสกปรก ความชื้น ค่าความอ่อนตัวเริ่มต้น ค่าดัชนีความอ่อนตัวของยาง และค่าความหนืด มีค่าสูงกว่ามาตรฐานทุกชั้นคุณภาพ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. ไชยยศ สินเจริญกุล. (2556). สถานการณ์ยางพารา. แหล่งที่มา :http://www.thainr.com/th/message_detail.php?MID=187. 5 มีนาคม 2556.
2. ทรงศักดิ์ มิ่มกระโทก และคณะ. (2557). การจัดการความเสี่ยงระบบโลจิสติกส์ยางพาราของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจันทบุรีจำกัด. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
3. สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง. (2556) สถานการณ์ยางพารา. แหล่งที่มา : http://www.rubber.co.th/. 18 สิงหาคม 2556.