การรับรู้ความเสี่ยงของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าจากตลาดนัดย่านธุรกิจในกรุงเทพมหานคร

Main Article Content

ธนภูมิ อติเวทิน

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้กิจกรรมการจับจ่ายสินค้าของผู้บริโภค ณ ตลาดนัดย่านธุรกิจในกรุงเทพมหานคร โดยใช้แนวคิดการรับรู้ความเสี่ยงทั้งหกมิติ ประกอบด้วย ความเสี่ยงด้านการบกพร่องต่อหน้าที่ ความเสี่ยงด้านร่างกาย ความเสี่ยงด้านการเงิน ความเสี่ยงด้านสังคม ความเสี่ยงด้านจิตวิทยา และความเสี่ยงด้านเวลา กับการวิเคราะห์ด้วยมุมมองทางมานุษยวิทยา เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับมุมมองและพฤติกรรมของผู้บริโภคภายใต้บริบทสังคมเมืองสมัยใหม่และเป็นแนวทางให้ตลาดนัดสามารถพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืนต่อไป


            ผลการศึกษาเปรียบเทียบจากการสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลที่เป็นผู้ซื้อ ผู้ขายและผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดนัดย่านธุรกิจทั้งสามแห่งของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ตลาดนัดกระทรวงการคลัง ตลาดนัดกระทรวงศึกษาธิการ และตลาดนัดหลังสำนักงานใหญ่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) พบว่า ตลาดนัดเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางที่เป็นวัยทำงานซึ่งมีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ ตลาดนัดจึงต้องสามารถตอบสนองความต้องการที่มีอย่างหลากหลายได้ภายในเวลาอันจำกัด นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของตลาดนัดก็คือ การสร้างประสบการณ์จับจ่ายของลูกค้าที่แตกต่างจากมิติของห้างสรรพสินค้าจากการได้ค้นหา เปรียบเทียบและต่อรองราคาสินค้า รวมถึงโอกาสที่จะได้สร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกลุ่มเพื่อนที่มาจับจ่ายสินค้าด้วยกันและระหว่างผู้ซื้อกับพ่อค้าแม่ค้า


สำหรับการรับรู้ความเสี่ยงที่สำคัญของผู้บริโภคก็คือ ความเสี่ยงด้านการบกพร่องต่อหน้าที่เกี่ยวกับการให้บริการลูกค้าได้อย่างเป็นมาตรฐานและเท่าเทียมกัน และความเสี่ยงด้านจิตใจที่ยังคงไม่แน่ใจต่อที่มาหรือแหล่งผลิตสินค้า ในขณะที่ความเสี่ยงด้านอื่นๆ อยู่ในระดับที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ทั้งนี้ แม้จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ จากสินค้าที่อาจไม่ได้คุณภาพ ราคาไม่เป็นมาตรฐาน พ่อค้าแม่ค้าที่ให้บริการตามอารมณ์ ความไม่แน่นอนของเวลาที่ใช้ในการเดินทางไป-กลับ หรือความเสี่ยงที่จะต้องอับอายผู้อื่นเมื่อถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าปลอมแปลงหรือเลียนแบบ แต่เนื่องจากการเดินตลาดนัดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของคนเมืองไปแล้ว ประกอบกับอิทธิพลของวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่เราส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตอยู่สนับสนุนให้ผู้บริโภคแสวงหาความพึงพอใจผ่านการบริโภค กิจกรรมการแสวงหาสินค้าและจับจ่ายใช้สอย ณ ตลาดนัดจึงเป็นพลวัตที่ดำเนินอยู่ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด  

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. กิตติพร ใจบุญ. (2549). ตลาดกับวิถีชีวิต: บทสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องตลาดในสังคมไทย. ใน ตลาดในชีวิต ชีวิตในตลาด. (สมรักษ์ ชัยสิงห์กานนท์, บรรณาธิการ) กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
2. ชนิตว์สรณ์ ตรีวิทยาภูมิ. (2551). การรับรู้ความเสี่ยง. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2556, จาก www.ismed.or.th.
3. ชยาภรณ์ วิเชียร. (2543). ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกซื้ออาหารสดในซุปเปอร์มาร์เก็ตของแม่บ้านในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
4. สุวรรณฤทธิ์ วงศ์ชอุ่ม. (2551). พฤติกรรมนักท่องเที่ยว: การรับรู้ (2). สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2556 จาก suwannarit.blogspot.com/2008/01/2.html.