การศึกษาเดี่ยวแซ็กโซโฟนเพลงสารถี 3 ชั้น ทางครูสมาน รักจันทร์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาเดี่ยวแซ็กโซโฟนเพลงสารถี 3 ชั้นทางครูสมาน รักจันทร์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติและผลงานทางด้านดนตรี เทคนิคการบรรเลงและสำนวนกลอนรวมทั้งความสัมพันธ์ของทางแซ็กโซโฟนเพลงสารถี 3 ชั้น กับทางฆ้องวงใหญ่ ของครูสมาน รักจันทร์ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงพรรณา (Descriptive Research) ได้ศึกษาข้อมูลจากเอกสารวิจัย ตำราทางวิชาการ เอกสารสิ่งพิมพ์ แผ่นบันทึกเสียง และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผลการศึกษามีดังนี้
ครูสมาน รักจันทร์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก บิดามารดาประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน เดิมบรรจุเป็นข้าราชการทหารเรือ ตำแหน่งเครื่องดนตรี คาลิเน็ท ประจำหมวดวงโยธวาทิตของกองดุริยางค์กองทัพเรือ ต่อมาได้ลาออกจากราชการทหาร ไปประกอบอาชีพนักดนตรี ในวงดนตรีลูกทุ่ง สายันต์ สัญญาและกลับเข้ามารับราชการทหารอีก จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันโอนย้ายมารับราชการครู โรงเรียนวัดดอนทอง ครูสมาน รักจันทร์ มีผลงานสำคัญโดย การส่งนักเรียนเข้าประกวดในรายการ เซ็ทเทรด เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง เครื่องดนตรีประเภท อัลโต้แซ็กโซโฟน ด้วยการทำทางเดี่ยวแซ็กโซโฟนเพลงสารถี 3 ชั้น จากการศึกษาทางเพลงเดี่ยวของครู ผู้วิจัยพบว่า เทคนิคการบรรเลงและสำนวนกลอน เพลงเดี่ยวสารถี 3 ชั้น ทางครูสมาน รักจันทร์ มีการใช้เทคนิคที่สำคัญ 5 ประการ คือ การเคลื่อนที่ตามลำดับขั้น (Conjunet Motion) การกระโดดข้ามขั้น (Disjunet Motion) การสะบัดนิ้ว (Appossiatura) การพรมนิ้ว (Trill) และการระบายลม (Circular Breathing) เป็นเทคนิคขั้นสูงที่ผู้บรรเลงแซกโซโฟนจำเป็นจะต้องเรียนรู้และฝึกฝน ให้เกิดความชำนาญ ความสัมพันธ์ของทางแซ็กโซโฟนเพลงสารถี 3 ชั้น กับทางฆ้องวงใหญ่ ในท่อนที่ 1 มีอยู่ใน 3 บันไดเสียงคือ โด ฟา และ ที ซึ่งแซ็กโซโฟนและฆ้องวงใหญ่ลงลูกตกเสียงเดียวกัน 6 เสียงคือ โด เร ฟา ซอล ลา ที ส่วนทำนองท่อนที่ 2 และ 3 มีอยู่ใน 2 บันไดเสียงคือ บันไดเสียง โด และ ฟา ซึ่งแซ็กโซโฟนและฆ้องวงใหญ่ลงลูกตกเสียงเดียวกัน 6 เสียงคือ โด เร มี ฟา ซอล ลา
จากการศึกษาเดี่ยวแซ็กโซโฟนเพลงสารถี 3 ชั้นทางครู สมาน รักจันทร์ ทำให้ผู้วิจัยพบว่าลักษณะของ ทำนองเพลง สำนวนกลอน แสดงถึงอัตลักษณ์ของครูในด้านอุปนิสัยที่มีความละเอียด มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นผู้ใฝ่รู้มีความรักในด้านเพลงไทย
Article Details
References
2. จำนง รังสิกุล. (2517). สนทนาพาที. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา.
3. ณรุตญ์ สุทธจิตต์. (2535). สังคีตนิยม. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
4. ดุษฎี พนมยงค์. (2539). สานฝันด้วยเสียงเพลง : มาฝึกร้องเพลงกันเถิด. พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับปรับปรุง. กรุงเทพฯ: บ้านเพลง.
5. ถาวร ศรีผ่อง. (2530). เพลงช้าเรื่องเพลงยาว: การวิเคราะห์ทางฆ้องวงใหญ่. ปริญญานิพนธ์ มานุษยดุริยางควิทยา. กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
6. บันเทิง ชลช่วยชีพ. (2539). สังคีตนิยม. ฝ่ายเอกสารสถาบันราชภัฎดนตรีสากลเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์.
7. ปัญญา รุ่งเรือง. (2521). ประวัติดนตรีไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
8. มานพ วิสุทธิแพทย์. (2533). ดนตรีไทยวิเคราะห์. ในที่ระลึกงานดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่ 22 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์.
9. วิภา คงคากุล. (2537). ความสำคัญของดนตรีต่อสังคม. ถนนดนตรี 1
10. สงัด ภูเขาทอง. (2532). การดนตรีไทยและการเข้าสู่ดนตรีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.
11. สุกรี เจริญสุข. (2533). แนววิเคราะห์เพลงพื้นบ้านกับเพลงลูกทุ่งในเส้นทางเพลงลูกทุ่งไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ.