การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2554 ทำการเก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน 18 สถานีตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ปากแม่น้ำก่อนไหลลงสู่อ่าวไทยตอนบน ณ จังหวัดสมุทรปราการ จนถึงต้นแม่น้ำ ณ จังหวัดนครสวรรค์ ทำการวิจัยโดยแบ่งช่วงตอนแม่น้ำ ออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่บริเวณพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ จนถึงสะพานพระรามที่ 7 อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี แม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง ตั้งแต่สะพานนนทบุรี อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ถึงป้อมเพชร วัดพนัญเชิงวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ตั้งแต่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ถึงสะพานเดชาติวงศ์ จังหวัดนครสวรรค์ ทำการเก็บตัวอย่างครอบคลุม 3 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน 2 ครั้ง ฤดูฝนและฤดูหนาว อย่างละ 1 ครั้ง นำมาวิเคราะห์หาคุณภาพน้ำ โดยห้องปฏิบัติการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 ในด้านเคมี ได้แก่ ออกซิเจนละลาย (DO) บีโอดี (BOD) แอมโมเนีย-ไนโตรเจน (NH3-N) และด้านชีวภาพ ได้แก่ แบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม (FCB) และแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (TCB)
ผลการประเมินคุณภาพน้ำตามมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินในแต่ละสถานี พบว่า สถานการณ์คุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดทั้งสาย ส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานกำหนดถึงร้อยละ 78 มีเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น ที่มีคุณภาพน้ำเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำกำหนด และไม่มีบริเวณสถานีใดที่มีคุณภาพน้ำสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานกำหนด สำหรับการทดสอบหาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำกับระยะทาง (ช่วงตอนแม่น้ำ) และฤดูกาล ผลการทดสอบสมมติฐานโดยใช้โปรแกรมทางสถิติ One – way ANOVA ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 พบว่า ฤดูกาลไม่มีผลต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นอยู่กับระยะทางที่มวลน้ำไหลผ่าน ซึ่งสอดคล้องกับการแบ่งตอนแม่น้ำตามประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่องกำหนดประเภทของแหล่งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และเมื่อนำผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในช่วงเกิดอุทกภัยปลาย พ.ศ. 2554 เปรียบเทียบหาความสัมพันธ์กับผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในช่วงเวลาเดียวกันของ พ.ศ. 2553 โดยใช้โปรแกรมทางสถิติ Paired Samples t - Test ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 พบว่า เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ไม่ส่งผลกระทบทำให้คุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดทั้งสายเปลี่ยนแปลง แต่มีผลกระทบต่อค่าออกซิเจนละลาย (DO) เฉพาะบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่สถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำ CH01 ถึง CH15 (พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ถึงสะพานนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี)
Article Details
References
2. กรมควบคุมมลพิษ. (2554). การกำหนดประเภทแหล่งน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา. ใน เอกสารประกอบการสัมมนาทบทวนการกำหนดประเภทแหล่งน้ำผิวดินแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. หน้า 21 – 30.
3. นราธิป เพียรจริง. (2543). การศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในแม่น้ำบางประกง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
4. มณทิพย์ ทาบูกานอน. (2527). การศึกษาคุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา. กรุงเทพมหานคร: กองมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ.
5. สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 (นนทบุรี). 2553. รายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดิน. นนทบุรี: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
6. สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 (นนทบุรี). (2553). คู่มือทดสอบตัวอย่างน้ำ ห้องปฏิบัติการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 (นนทบุรี). นนทบุรี: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
7. อารยัน รัตนพันธุ์. (2547). การศึกษาระดับน้ำในรอบปีของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างภายใต้อิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงด้วยแบบจำลอง ISIS. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.