ปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายในการบังคับใช้พระราชบัญญัติ ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474

Main Article Content

มิลิณ มานะปัญญา

บทคัดย่อ

                  พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า  พ.ศ. 2474 ตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่าของภาคเอกชนให้เป็นไปโดยความถูกต้องและเป็นธรรม แต่กลับไม่มีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการขายทอดตลาดโดยภาคเอกชน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่นการสมยอมประมูล (ฮั้วประมูล)ขึ้น  เรื่องคุณสมบัติของผู้ขอออกใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่าที่กำหนดให้บุคคลนั้นต้องเป็นผู้ไม่เคยต้องโทษจำคุกตามกฎหมายลักษณะอาญาภาค 2 เช่นนี้เสมือนเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนในการประกอบอาชีพ และไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เพราะบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และกรณีเรื่องการหมดอายุของใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่าที่กำหนดให้สมบูรณ์ตามกฎหมายในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในความเสมอภาคในส่วนของระยะเวลาในการใช้ใบอนุญาตและเกิดปัญหาการประกอบกิจการขายทอดตลาดและค้าของเก่าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และกรณีที่บัญญัติให้ใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่าเป็นกรณีที่ออกให้เป็นการเฉพาะตัวไม่สามารถโอนให้ทายาทหรือบุคคลอื่นได้ ทำให้เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตเสียชีวิตลงหรือไม่ประสงค์จะประกอบกิจการดังกล่าวต่อไป กิจการดังกล่าวต้องหยุดประกอบกิจการ ผลกระทบต่อลูกจ้างในสถานประกอบการดังกล่าว ตลอดจนการยื่นคำร้องขอมีใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่าที่กำหนดให้ผู้ร้องขอต้องยื่นคำขอใบอนุญาตด้วยตนเองจะมอบให้ผู้ใดทำการแทนไม่ได้ อีกทั้งพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 นี้  ก็มิได้กำหนดคุณสมบัติเรื่องสถานที่ประกอบการขายทอดตลาดและค้าของเก่าไว้อย่างชัดเจน ต้องอาศัยกฎกระทรวงและพระราชบัญญัติอื่นเทียบเคียงมาเป็นมาตรการในการควบคุมสถานที่ประกอบการ


                   ดังนั้น เพื่อให้พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลแล้ว ผู้ศึกษาเห็นควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการป้องกันการสมยอมประมูล  (ฮั้วประมูล) กรณีเอกชนขายทอดตลาด โดยให้นำหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด พ.ศ. 2544 มาบังคับใช้กรณีเอกชนขายทอดตลาดได้ นอกจากนั้นควรปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 อนุมาตรา 3 ในเรื่องคุณสมบัติของผู้มาออกใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่า โดยกำหนดให้บุคคลผู้เคยต้องโทษจำคุกตามกฎหมายลักษณะอาญาเมื่อพ้นโทษมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้วสามารถมายื่นขอใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่าได้เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  และกำหนดให้การยื่นคำร้องขอมีใบอนุญาตหรือต่อใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่าผู้ร้องขอใบอนุญาตสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำการแทนได้   อีกทั้งควรมีการปรับปรุงแก้ไขมาตรา 11 โดยให้นับเวลาการใช้ใบอนุญาตไปเป็นเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต รวมทั้งกำหนดให้อำนาจรัฐสามารถเข้ามาดูแลกิจการขายทอดตลาดและค้าของเก่าได้เป็นการชั่วคราวในระหว่างที่ผู้ได้รับใบอนุญาตเสียชีวิตหรือกรณีที่มีการโอนกิจการให้บุคคลอื่น ตลอดจนให้มีการกำหนดคุณสมบัติเรื่องสถานที่ประกอบการขายทอดตลาดและค้าของเก่าไว้อย่างชัดเจนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474
2. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด พ.ศ.2554
3. พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499
4. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522