ผลของการพ่นพาโคลบิวทราโซลในทุเรียนระยะติดผลต่อการยับยั้งการแตกใบอ่อน และการเจริญเติบโตของผลทุเรียน

Main Article Content

เลิศชัย จิตร์อารี
ปรียานันท์ สิทธิจินดาร์
วิกันยา ประทุมยศ

บทคัดย่อ

ผลอ่อนทุเรียนร่วงซึ่งเกิดจากการแตกใบอ่อนในระยะที่ต้นทุเรียนกำลังติดผลเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเป็นอย่างมาก ดังนั้นงานวิจัยในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการพ่นพาโคลบิวทราโซลในทุเรียนระยะติดผลต่อการยับยั้งการแตกใบอ่อนและการเจริญเติบโตของผลทุเรียน ดำเนินการทดลองที่สวนทุเรียนของเกษตรกร อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี วางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design (CRD) ประกอบ 4 สิ่งทดลอง คือพ่นน้ำเปล่า และพ่นพาโคลบิวทราโซล ความเข้มข้น 500, 1000 และ 1500 ppm ตามลำดับ แต่ละสิ่งทดลองใช้ต้นทุเรียน 5 ต้น ทำการพ่นน้ำเปล่าและพาโคลบิวทราโซลในระยะที่ต้นทุเรียนกำลังติดผล หลังจากนั้นบันทึกข้อมูลวันที่เริ่มแตกใบอ่อน เปอร์เซ็นต์การแตกใบอ่อน จำนวนใบอ่อนต่อยอด ความยาวของยอดใหม่ ค่า SPAD value ของใบทุเรียน ความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของผลทุเรียน ภายหลังการให้สาร 1 และ 2 เดือน ตามลำดับ


            จากการทดลองพบว่า ต้นทุเรียนที่ได้รับพาโคลบิวทราโซล ความเข้มข้น 500, 1000 และ 1500 ppm เริ่มแตกใบอ่อนช้า และมีเปอร์เซ็นต์การแตกใบอ่อน จำนวนใบอ่อนต่อยอด และความยาวของยอดใหม่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุเรียนที่ได้รับน้ำเปล่า ในขณะที่ต้นทุเรียนที่ได้รับน้ำเปล่าและพาโคลบิวทราโซลทุกความเข้มข้นมีค่า SPAD value ของใบทุเรียน ความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของผลทุเรียนไม่แตกต่างกันทางสถิติ แสดงให้เห็นว่า การใช้พาโคลบิวทราโซลสามารถชะลอการแตกใบอ่อนของต้นทุเรียนในระยติดผล โดยไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของผลทุเรียน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. ไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน. (2534). ผลของพาโคลบิวทราโซลและไฮโดรเจนไซยานาไมด์ต่อการออกดอกของทุเรียนพันธุ์ชะนี. ปัญหาพิเศษ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. เลิศชัย จิตร์อารี, ปรียนันท์ สิทธิจินดาร์ และวิกันยา ประทุมยศ. 2562. อิทธิพลของพาโคลบิวทราโซล เมพิควอทคลอไรด์และโพแทสเซียมไนเตรทต่อการยับยั้งการแตกใบอ่อนของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง. ใน รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการปุ๋ยและดินแห่งชาติ ครั้งที่ 6. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย. นครปฐม. หน้า 245-253
3. สมบุญ เตชะภิญญาวัฒน์. (2544). สรีรวิทยาของพืช. ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. สำนักพิมพ์ มก.
4. สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี. (2556). บันได 6 ขั้นสู่การผลิตทุเรียนนอกฤดูอย่างมืออาชีพ. กรมส่งเสริมการเกษตร.
5. Soumya, P.R., P., Kumar and M., Pal. (2017). Paclobutrazol: a novel plant growth regulator and multi-stress ameliorant. Indian Journal of Plant Physiology. 22(3): 267–278.
6. T., Yeshitela, P.J., Robbertse and P.J.C., Stassen. (2004). Paclobutrazol suppressed vegetative growth and improved yield as well as fruit quality of ‘Tommy Atkins’ mango (Mangifera indica) in Ethiopia. New Zealand Journal of Crop and Horticultural Science. 32: 281-293.