Editorial Note

Main Article Content

Ekkarin Tuansiri

Abstract

บทบรรณาธิการ


24 มิถุนายน 2565 เวลาย่ำค่ำ 


เป็นวันก่อกำเนิดวารสารวาระการเมืองและสังคม ฉบับปักหมุด (Journal of Political and Social Agenda)


แน่นอนมีเจตจำนงต้องการให้ตรงกับวันอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 


เป็นวาระครบรอบ 90 ปี 


และ 24 มิถุนายน 2557 คือวันเปิดอาคารเรียนและบริหารคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 


การตีพิมพ์เผยแพร่วันนี้ เพื่อจะเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์สำหรับการเมืองระดับชาติและสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นแห่งนี้


มันจะไม่หายไป หรือถูกลักขโมยได้เหมือนกับหมุดคณะราษฎรที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย 


เหตุเพราะร่องรอยดิจิทัล (digital footprint) จะบันทึกวารสารเล่มนี้ไว้ในโลกออนไลน์ ทั้งหมดนี้เพื่อจะให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย 


แรกเริ่มเดิมที คณะทำงานวารสารได้ออกแบบให้วารสารเล่มนี้มีฉบับตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือ ก่อนที่จะมาปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบไฟล์ดิจิทัล เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน 


วารสารฉบับนี้ก็คงไม่แตกต่างจากวารสารวิชาการอื่น ๆ ที่มีอยู่ทั่วไป ทั้งขนบการเขียนและรูปแบบ รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาต่าง ๆ หากทว่าความตั้งใจของคณะทำงานวารสารฉบับนี้ต้องการให้วารสารเปิดพื้นที่ ให้เป็นวารสารที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสถานการณ์ร่วมสมัยและตอบสนองต่อภูมิปัญญาทางสังคม ทั้งในเชิงวิพากษ์วิจารณ์และในเชิงสร้างสรรค์ อันจะปรากฏในรูปแบบบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความรับเชิญ และบทความปริทัศน์หนังสือ ทั้งทางด้านทฤษฎีแบบเคร่งครัดและเนื้อหาที่เน้นการสะท้อนย้อนคิดต่อความเป็นไปของสังคม 


หากกล่าวโดยสรุปแล้ว วารสารนี้ต้องการเผยแพร่ส่งเสริมงานวิชาการที่ไม่ใช่ “แต่เพียงงานวิชาการบริสุทธิ์” แต่ต้องการงานวิชาการเชิงนโยบายทางสังคมและการเมือง เอาเรื่องเอาราวกับความทุกข์ยากของคนในสังคม และเผยให้เห็นถึงระบบโครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการอันควรจะเป็น 


สำหรับวารสารฉบับนี้มีทั้งหมด 6 บทความ และปริทัศน์หนังสือ 1 บทความ อันประกอบด้วยบทความ 1.“‘ความสุขในทัศนะของประชาชน’ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้: มุมมองผ่านแนวคิดการครองอำนาจนำ (Hegemony)” 2.“ภาษา ถ้อยคำและอำนาจในทัศนะของมิเชล ฟูโกต์กับการศึกษาเรื่องการเมือง สันติภาพและความขัดแย้งในสถานการณ์ปัจจุบันจังหวัดชายแดนภาคใต้” 3.“ริชวะฮ์กับการเลือกตั้ง: จากหลักการอิสลามสู่ปรากฏการณ์ในสังคมมลายูมุสลิมชายแดนใต้” 4.“ความหมายของ ‘ประชาธิปตัย’ ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1” 5.“การวิพากษ์กระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation) ของกลุ่มเยาวชนภายใต้การพัฒนาภาครัฐระบบเปิดตามนโยบายรัฐบาล” 6.“สงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบในมลายาและนโยบายการ ‘เอาชนะจิตและใจ’” และ ปริทัศน์หนังสือ “การเมืองทัศนา: ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็นสู่ความหมายทางวัฒนธรรม”


ในฐานะบรรณาธิการต้องขอขอบคุณ คณะทำงานวารสาร ผู้เขียนบทความ ผู้ทรงวุฒิ กองบรรณาธิการ และขอขอบคุณเป็นการพิเศษคือ อาจารย์อันวาร์ กอมะ มิตรผู้ร่วมงานอันยอดเยี่ยมที่ริเริ่มการทำงานตั้งแต่ต้นจนกระทั่งวันปิดเล่ม 


เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในฉบับหน้าจะได้พบกับบทความใหม่ ๆ ที่จะช่วยจุดไฟแห่งปัญญาและสร้างข้อถกเถียงทางวิชาการแก่ผู้อ่านทุกท่าน 


ด้วยมิตรภาพและสามัญสำนึก 


เอกรินทร์ ต่วนศิริ 


บรรณาธิการ 


24 มิถุนายน 2565/ ครบรอบ 90 ปีอภิวัฒน์สยาม


 


 


 


 

Article Details

How to Cite
Tuansiri, E. (2022). Editorial Note. Journal of Political and Social Agenda, 1(1), i-ii. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/polsciPSU/article/view/260084
Section
Editorial Note
Author Biography

Ekkarin Tuansiri, Faculty of Political Science, Prince of Songkla University

Deputy Dean and Lecturer, Faculty of Political Science, Prince of Songkla University. Email: [email protected] 

References

ด้วยมิตรภาพและสามัญสำนึก

เอกรินทร์ ต่วนศิริ

บรรณาธิการ

มิถุนายน 2565/ ครบรอบ 90 ปีอภิวัฒน์สยาม