บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร

     1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ เพื่อเผยแพร่ในวารสารมหาวิทยาลัยพายัพที่ตนรับผิดชอบ และต้องคัดเลือกบทความมาเผยแพร่หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความถูกต้องของระเบียบวิธีวิจัย ความน่าเชื่อถือ และความชัดเจนของบทความ ตลอดจนความสอดคล้องกับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ

     2.บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนบทความ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาของการประเมินบทความ

     3. บรรณาธิการต้องไม่เผยแพร่บทความที่เคยเผยแพร่ที่อื่นมาแล้ว โดยต้องมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจัง เพื่อให้แน่ใจว่า บทความที่เผยแพร่ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงาน ของผู้อื่น และหากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น จะต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้เขียนบทความหลักทันที เพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การเผยแพร่บทความนั้น ๆ

     4. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความ และผู้ประเมินบทความ

     5. บรรณาธิการต้องไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง

     6. หากบรรณาธิการตรวจพบว่า บทความมีการลอกเลียนบทความอื่นโดยมิชอบ หรือมีการปลอมแปลงข้อมูล ซึ่งสมควรถูกถอดถอน แต่ผู้เขียนปฏิเสธที่จะถอนบทความ บรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ

     7. บรรณาธิการไม่ควรเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในการตอบรับบทความที่ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ไปแล้ว ยกเว้นมีปัญหาร้ายแรงเกิดขึ้นในระหว่างการส่งบทความเพื่อรับการพิจารณา

     8. บรรณาธิการควรจัดพิมพ์คำแนะนำแก่ผู้เขียนบทความ ผู้ประเมินบทความ และควรปรับปรุง คำแนะนำให้ทันสมัยอยู่เสมอ

     9. บรรณาธิการควรทำให้เกิดความมั่นใจว่า รายละเอียดทุกส่วนในบทความที่มีการตีพิมพ์ในวารสาร เป็นไปตามหลักจริยธรรมที่ได้รับการยอมรับ

     10. บรรณาธิการต้องปฎิบัติต่อผู้เขียนโดยใช้เหตุผลทางวิชาการมาพิจารณาบทความทุกครั้งด้วยความ เป็นธรรม ปราศจากอคติหรือความลำเอียงต่อบทความและผู้เขียน ทั้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัฒนธรรม การเมือง อุดมคติ และสังกัดของผู้เขียน

     11. บรรณาธิการไม่ควรเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารของตน

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ

     1. ผู้เขียนบทความต้องรับรองว่าบทความไม่เคยได้รับการเผยแพร่มาก่อน หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาจากวารสารอื่น

     2. ผู้เขียนบทความต้องไม่ละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) หากผู้เขียนละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรง

     3. ผู้เขียนบทความต้องปรับแก้ไขบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบของวารสาร

     4. ผู้เขียนบทความที่มีชื่อปรากฎในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้มีส่วนในการจัดทำบทความ และมีส่วน ในการดำเนินการวิจัยจริง

     5. ผู้เขียนบทความต้องอ้างอิงผลงาน ภาพ หรือตาราง หากมีการนำมาใช้ในบทความของตนเอง โดยให้ระบุ “ที่มา” เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ (หากมีการฟ้องร้องจะเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ทางวารสารจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น)

     6. ผู้เขียนบทความต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการเอกสารอ้างอิง ทั้งในแง่ของรูปแบบและเนื้อหา และไม่นำเอกสารที่ไม่ได้อ้างอิงในเนื้อหามาใส่ไว้ในรายการเอกสารอ้างอิง รวมถึงควรอ้างอิงเอกสารเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม 

     7. ผู้เขียนบทความต้องปรับแก้ไขบทความตามผลประเมินจากผู้ประเมินบทความและกอง บรรณาธิการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

     8. ผู้เขียนบทความต้องระบุชื่อแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนในการทำวิจัย (ถ้ามี) และต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

     9. ผู้เขียนบทความต้องไม่รายงานข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ หรือการปลอมแปลง บิดเบือน รวมไปถึงการตกแต่ง หรือเลือกแสดงข้อมูลเฉพาะที่สอดคล้องกับข้อสรุป

     10. ผู้เขียนบทความมิได้จ้างวานให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานเป็นผู้เขียนบทความให้

     11. กรณีที่ผลงานเป็นการศึกษาวิจัยและทำการทดลองในมนุษย์/คน หรือสัตว์ทดลอง โดยการทดลอง ในมนุษย์/คน อาจส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรี สิทธิ ความปลอดภัย และสุขภาวะของมนุษย์ ขอให้ผู้เขียนแนบหนังสือรับรองจริยธรรมจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง และต้องระบุข้อมูลดังกล่าวไว้ในบทความส่วนของวิธีการดำเนินการวิจัยด้วย ทั้งนี้ การอนุมัติให้ลงตีพิมพ์ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากกองบรรณาธิการวารสารฯ ถือเป็นที่สิ้นสุด  

 บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

     1. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ

     2. ผู้ประเมินบทความต้องตรวจสอบก่อนว่า ตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบทความที่ประเมินหรือไม่ หากพบว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบ และปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ

     3. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณา ความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่มีต่อสาขาวิชานั้น ๆ คุณภาพของการวิเคราะห์ และความเข้มข้นของผลงาน หรือระบุผลงานวิจัยที่สำคัญ ๆ และสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน แต่ผู้เขียนบทความไม่ได้อ้างถึงเข้าไปในการประเมินบทความด้วย ผู้ประเมินไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ

     4. ผู้ประเมินบทความต้องไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง

     5. เมื่อผู้ประเมินบทความพบว่า มีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนกัน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ

 


วารสารมหาวิทยาลัยพายัพ เป็นวารสารวิชาการสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ตีพิมพ์และเผยแพร่บทความวิชาการและบทความผลงานวิจัยหรือบทความวิจัย เพื่อเป็นสื่อกลางเผยแพร่ความรู้จากผลงานวิจัยและบทความวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยและบทความวิชาการในสาขามนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์  ศิลปศาสตร์  นิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน บริหารธุรกิจ  บัญชี  เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์  และสหวิทยาการทางด้านมนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่แลกเปลี่ยนด้านวิทยาการความรู้ระหว่าง อาจารย์ นิสิตนักศึกษา นักวิชาการอิสระทั้งของรัฐและเอกชนตลอดจนบุคคลทั่วไป โดยเปิดโอกาสให้เผยแพร่ผลงานวิชาการที่มีคุณภาพในอันที่จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติ

ประเภทของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร

บทความวิจัย (Research Articles) ได้แก่ บทความนำเสนอผลการวิจัยที่ได้จากการผู้เขียนหรือกลุ่มของผู้เขียนได้ศึกษา ค้นคว้าด้วยตนเอง

บทความทางวิชาการ (Academic Articles) ได้แก่ บทความที่ผู้เขียนเรียบเรียงจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง หรือจากผล งานหรือประสบการณ์ของผู้เขียนเอง หรือจากการถ่ายทอดจากผู้อื่นโดยเสนอเป็นองค์ความรู้ทั่วไปหรือเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ

กำหนดการตีพิมพ์

     วารสารมหาวิทยาลัยพายัพ มีกำหนดการตีพิมพ์ปีละ 2 ฉบับ คือ 
     ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - มิถุนายน กำหนดออก กรกฎาคม
     ฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม กำหนดออก มกราคมปีถัดไป

 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่

   1. สำนักงานฝ่ายวิชาการและวิจัย 053 241255, 053 851478 – 86 ต่อ 344, 338
   2. บรรณาธิการ อาจารย์ ดร.ชลธิชา รุ่งสาตรา