การศึกษาเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่จังหวัดเลยกับบทบาทการสื่อความหมายทางวัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

ผู้แต่ง

  • พยุงพร ศรีจันทวงษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย

คำสำคัญ:

เรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์, การสื่อความหมายทางวัฒนธรรม, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ, จังหวัดเลย

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่องการศึกษาเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่จังหวัดเลยกับบทบาทการสื่อความหมายทางวัฒนธรรม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อวิเคราะห์บทบาทการสื่อความหมายทางวัฒนธรรมของเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ และ 2) เพื่อวิเคราะห์เรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์กับบทบาทจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เก็บรวบรวมข้อมูลเอกสาร และข้อมูลภาคสนามในพื้นที่จังหวัดเลย 5 อำเภอ ที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนไทย-ลาว ได้แก่ อำเภอนาแห้ว  อำเภอด่านซ้าย  อำเภอเชียงคาน  อำเภอท่าลี่ และ อำเภอปากชม สัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ ผู้นำพิธีกรรม ชาวบ้าน และผู้สูงอายุ อำเภอละ 10 คน  รวม 50 คน วิเคราะห์และตีความข้อมูลโดยใช้แนวคิดทฤษฎีตำนานและเรื่องเล่า (Myth and narrative) แนวคิดสัญลักษณ์และการสื่อความหมายทางวัฒนธรรม (Symbol and Interpretation)  และแนวคิดภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากร

ผลการวิจัยพบว่าเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ในท้องถิ่นจังหวัดเลย มีบทบาทด้านการสื่อความหมายทางวัฒนธรรม 6 ด้าน คือ  1) สื่อความหมายมิติความอุดมสมบูรณ์ ผ่านชื่อของพระพุทธรูป ประเพณีศักดิ์สิทธิ์  ผ่านปาง (อริยาบถ) ของพระพุทธรูปวัตถุในพิธีกรรม และผ่านพิธีกรรมสรงน้ำพระพุทธรูปและจุดบั้งไฟ  2) สื่อความหมายด้านสังคมและวัฒนธรรมล้านช้างดั้งเดิมผ่านพิธีกรรมเลี้ยงหิ้งเจ้าเมืองวัง  3) สื่อความหมายด้านศาสนาพุทธและศาสนาดั้งเดิมในลักษณะขัดแย้งและปรับปรนซึ่งกันและกัน  4) สื่อความหมายด้านรัฐชาติหลังจากแม่น้ำโขง และแม่น้ำเหืองเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว ในรูปแบบการช่วงชิงพื้นที่ทรัพยากรผ่านประเพณีสงกรานต์เพื่อสืบสานความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์  อำนาจรัฐกับความสัมพันธ์เจ้าพ่อปากเหือง พระเจ้าตนหลวง  พระเสี่ยง และการสถาปนาผีเมืองเชียงคานองค์ใหม่ 5) สื่อความหมายด้านความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ไทย-ลาว และ 6) สื่อความหมายด้านเพศภาวะในลักษณะการถูกกีดกันเพศหญิงให้กลายเป็นชายขอบในพุทธศาสนา เพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ และความสัมพันธ์ของเพศชายและหญิง

เรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์มีบทบาทในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดเลย จำแนกได้ 4 ด้านคือ 1) เรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์เป็นภูมิปัญญาในการปรับตัวของคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ  2) เรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์เป็นภูมิปัญญาในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน มีบทบาท 3 ด้าน คือ  (1) บทบาทในการสร้างพื้นที่กายภาพ  พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และพื้นที่ทางสังคม  (2) บทบาทในการจัดระเบียบทางสังคมของคนในชุมชนกับการใช้ และรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และ (3) บทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน  3) เรื่องเล่าและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ใช้ต่อรองเชิงอำนาจเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ซึ่งมีการต่อรองด้วยศาสนาและอาหาร  ต่อรองด้วยวัตถุสิ่งของ และต่อรองด้วยพฤติกรรมและเหตุการณ์เพื่อสร้างความพึงพอใจต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ และนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์  4) เรื่องเล่าและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์มีบทบาทในการต่อสู้ และต่อรองกับอำนาจรัฐเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่า และน้ำ จำแนกได้ 3 กรณีศึกษา ได้แก่  (1) การอนุรักษ์ป่าภูสวนทราย บ้านแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย   (2) การอนุรักษ์ป่าชุมชนภูเตาโปง บ้านบุ่งกุ่ม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และ (3) การอนุรักษ์แหล่งน้ำและพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง

เรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดเลย ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปรับตัวของคนกับคน  คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ทำหน้าที่สื่อความหมายทางวัฒนธรรม และมีบทบาทต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม ชุมชน สังคม และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ควรอนุรักษ์ และนำมาปรับใช้ต่อการพัฒนาและสร้างคุณค่าต่อไป

References

กาญจนา แก้วเทพ. (2553). แนวพินิจใหม่ในสื่อสารศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.

ธัญญา สังขพันธานนท์. (2556). วรรณคดีสีเขียว กระบวนทัศน์ และวาทกรรมธรรมชาติในวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ: นาคร.

ปฐม หงษ์สุวรรณ. (2550). กาลครั้งหนึ่ง: ว่าด้วยตำนานกับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปฐม หงษ์สุวรรณ. (2561). มองคติชน มุมสังคม หลักการ และแนวทางการศึกษาคติชนวิทยา. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

พรสวรรค์ ศิริกัญจนาภรณ์. (2561). เรื่องเล่าไทยลาวกับความสัมพันธ์ของชุมชนสองฝั่งโขง. เลย: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2555, 8 สิงหาคม). การศึกษาสังคมไทยผ่านภูมิวัฒนธรรม. สืบค้นจาก http://lek-prapai.org

ศิราพร ณ ถลาง. (2552). ทฤษฎีคติชนวิทยา วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สัณฐิตา กาญจนพันธุ์. (2554). ความคิดสีเขียว วาทกรรม และความเคลื่อนไหว. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคมและคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อคิน รพีพัฒน์. (2551). วัฒนธรรมคือความหมาย: ทฤษฎี และวิธีวิทยาของคลิฟฟอร์ด เกียร์ช. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ผู้ให้สัมภาษณ์

พรนภา สิงห์หล้า. (2563, 15 ธันวาคม). ปราชญ์ท้องถิ่น. [สัมภาษณ์].

เฟือน บุตรวิไล. (2564,10 กุมภาพันธ์). ปราชญ์ท้องถิ่น. [สัมภาษณ์].

สัญญา สิทธิ. (2564, 5 มกราคม). ปราชญ์ท้องถิ่น. [สัมภาษณ์].

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-02-28

How to Cite

ศรีจันทวงษ์ พ. (2023). การศึกษาเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่จังหวัดเลยกับบทบาทการสื่อความหมายทางวัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ. วารสารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, 18(63), 89–99. สืบค้น จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/researchjournal-lru/article/view/260012