การพัฒนาการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ สำหรับนักศึกษาเอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

Main Article Content

เดช บุญประจักษ์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ สำหรับนักศึกษาเอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 2) เพื่อศึกษาผลการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักศึกษาเอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ที่ผ่านการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ ประชากรเป็นนักศึกษาเอกคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยการฝึกหัดครู  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาเอกคณิตศาสตร์  ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 2 กลุ่ม กลุ่มละ 23 คน  ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ จำนวน 4 แผน ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง พหุนามและการแยกตัวประกอบของพหุนาม  ฟังก์ชันพหุนามและการแก้สมการพหุนาม ฟังก์ชันตรรกยะและเศษส่วนย่อย ฟังก์ชันเลขชี้กำลังและฟังก์ชันลอการิทึม  2)  แบบทดสอบวัดความรู้และทักษะทางคณิตศาสตร์ ที่มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ .75  3)แบบบันทึกการให้คะแนนภาคปฏิบัติ ดำเนินการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูล  ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2557 ใช้เวลาในการทดลอง 16 ชั่วโมง นำข้อมูลที่ได้จากการทดลองมาวิเคราะห์หาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และทดสอบสมมติฐานการวิจัยด้วยสถิติทดสอบที  ผลการวิจัย


  1. กิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ สำหรับนักศึกษาเอกคณิตศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติทั้งรายบุคคลและกลุ่มย่อย เน้นการฝึกคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาและอภิปรายร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นสาระความรู้ใหม่  แต่ละกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วย  1) การทบทวนความรู้  เป็นการตรวจสอบความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนรู้เนื้อหาสาระใหม่  2) การนำเสนอสาระความรู้ใหม่ ให้ผู้เรียนได้เห็นประเด็นสำคัญที่จะเรียนรู้  3) การวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปและการเชื่อมโยงความรู้ เป็นการศึกษาหาแนวทางในการหาคำตอบหรือหาข้อสรุปของความรู้ใหม่  และ 4) การประยุกต์ใช้ความรู้ เป็นการฝึกใช้ความรู้ที่เรียนรู้ใหม่กับสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วจึงสรุปสาระความรู้รวมทั้งหมดหลังจบบทเรียน 


  1. 2. ผลการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักศึกษาเอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ที่ผ่านการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ พบว่า

                    2.1 ค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้และทักษะทางคณิตศาสตร์เท่ากับ 67.69ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 13.59 และผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้และทักษะทางคณิตศาสตร์กับเกณฑ์ร้อยละ 60พบว่า สูงกว่าเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05และนักศึกษาได้คะแนนความรู้และทักษะทางคณิตศาสตร์ ตั้งแต่ร้อยละ 60 ขึ้นไป มีจำนวน 29 คน คิดเป็นร้อยละ 63.04


          2.2 หลังจากได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์  ตามทฤษฎีการสร้างความรู้แล้ว  นักศึกษาร้อยละ 80 สามารถสรุปความรู้คณิตศาสตร์ได้ถูกต้อง ครบถ้วน ส่วนนักศึกษาที่สรุปสาระความรู้ยังไม่ถูกต้อง ครบถ้วน  ได้จัดให้มีการเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ที่จัดเตรียมสำรองไว้อีก 1 ชุด โดยมีนักศึกษาที่ผ่านการเรียนรู้แล้วคอยเป็นพี่เลี้ยง  หลังจากเสร็จสิ้นการเรียนรู้เพิ่มเติมแล้ว ให้นักศึกษาสรุปสาระความรู้ด้วยตนเองและทดสอบความรู้ พบว่าทุกคนผ่านเกณฑ์การเรียนรู้ ร้อยละ 60

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

[1] อรุณ มาวัน. (2549). ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของทฤษฎีคอนสตรัคติสิสต์.
วิทยานิพนธ์ ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรและการสอน) ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
[2] บุญเลี้ยง ทุมทอง (2554). การวิจัยการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ (Learning Mathematics
Research). มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.