เทคนิคการสร้างผลงานวิชาการ
บทคัดย่อ
ผู้เป็นอาจารย์และครู มีหน้าที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การสร้างผลงานทางวิชาการที่ดีมีคุณภาพ
- ผลงานทางวิชาการ ได้แก่ เอกสารประกอบการสอน ตำรา หนังสือ งานวิจัย การคิดทฤษฎี คิดสูตรทาง วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สถิติ
- ผลงานวิชาการที่ดีมีคุณภาพ
2.1 มีความถูกต้อง
2.2 เนื้อหากว้างและลึก
2.3 มีทฤษฎี สูตร ผลงานวิจัยหรือความคิดของตนเองอยู่ด้วย
2.4 กระชับ ชัดเจน แจ่มแจ้ง
2.5 รูปแบบการอ้างอิงถูกต้อง
2.6 พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ วารสารวิชาการ (สำหรับงานวิจัย)
- กลเม็ดในการเขียน
3.1 ก่อนเขียนผลงานวิชาการ อ่านวรรณคดีไทย เช่น กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ลิลิตพระลอ รามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน อิเหนา พระอภัยมณี สามก๊ก วรรณคดีของรัชกาลที่ 6 -มัทนะพาธา วรรณคดีของ น.ม.ส. -สามกรุง เสถียรโกเศศและนาคะประทีป -กามนิต และอ่านวรรณกรรมที่ดีๆ เช่น วรรณกรรมของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ -ละครแห่งชีวิต ของศรีบูรพา -ข้างหลังภาพ ของยาขอบ -ผู้ชนะสิบทิศ วรรณกรรมของอิงอร ของแม่อนงค์ ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช -สี่แผ่นดิน ของมาลัย ชูพินิจ -ล่องไพร ของหลวงวิจิตรวาทการ เพื่อซึมซับภาษาไทยที่ดี ทำให้การเขียนงานวิชาการด้วยภาษาไทยที่ไพเราะ กระชับ ชัดเจน แจ่มแจ้ง และต่อเนื่องอย่างมีเหตุผล
ตัวอย่างผลงานวิชาการที่ยอดเยี่ยม เพราะมีความถูกต้อง กว้าง และลึก เสนอความคิดและผลงานวิจัยของตนเองประกอบ บรรยายด้วยภาษาไทยที่กระชับ ชัดเจน แจ่มแจ้ง ชวนอ่านตลอดเล่ม คือ 1. เทคนิคการวัดผล 2. เทคนิคการเขียนข้อทดสอบ 3. เทคนิคการเขียนข้อคำถามแบบเลือกตอบของ ศาสตราจารย์ ดร.ชวาล แพรัตกุล ผลงานเกี่ยวกับพุทธธรรมและปรัชญาการศึกษาตามแนวพุทธของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
3.2 ค้นคว้าหลักวิชาให้กว้างขวางและลึกซึ้ง พร้อมด้วยผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและต่างประเทศและของตนเองด้วย (ควรมีหรือถ้ามี) จดไว้ว่าใครเขียน ลงในวารสารอะไร เล่มที่เท่าไร ฉบับที่เท่าไร วันที่ เดือน พ.ศ. และหน้าที่เท่าไรถึงเท่าไรไว้ให้ถูกต้อง เพื่อเวลาเขียนบรรณานุกรมและการอ้างอิงจะได้ถูกต้อง
3.3 คิดโครงร่างของเนื้อหา (บทที่)
บทที่ 1 เรื่องอะไร หาเอกสารมาประกอบไว้
บทที่ 2 เรื่องอะไร ...
3.4 เขียนให้ถูกต้องด้วยภาษาของตนเอง ไม่ใช่ลอกคนอื่นมาต่อๆ กันไว้ คำศัพท์ทางวิชาการต้องใช้ให้คงที่ ถ้าอ้างอิงคนอื่นที่ใช้คำอื่นก็ต้องปรับมาเป็นคำเดียวตลอดเล่ม
3.5 สร้างเป็นเอกสารประกอบการสอนก่อนแล้วพัฒนาต่อไปเป็นตำรา
3.6 พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์
3.7 ถ้าเป็นงานวิจัยต้องใหม่และก้าวไกลไปจากเดิม วิธีการวิจัยที่ถูกต้อง สถิติที่ใช้ถูกต้อง แปลผลถูกต้อง และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
3.8 ใช้อิทธิบาทสี่ - ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
ฉันทะ - มีความรัก ความพอใจในสิ่งที่ทำ
วิริยะ - มีความพยายาม มานะ อดทนทำในสิ่งที่ทำ
จิตตะ - มีจิตใจจดจ่อต่อสิ่งที่ทำ ไม่ทิ้งขว้าง ไม่ขี้เกียจ
วิมังสา - ใช้ปัญญาทบทวน พิจารณาหาเหตุผล ปรับปรุง แก้ไขให้สำเร็จให้จงได้