กระบวนการปรับตัวและการอบรมเลี้ยงดูบุตรของแม่วัยรุ่นที่ต้องดูแลบุตรเพียงลำพัง กรณีศึกษา : ผู้ใช้บริการจากสหทัยมูลนิธิ

Main Article Content

พัชชา เจิงกลิ่นจันทร์

Abstract

การวิจัยนี้ศึกษาเงื่อนไขกระบวนการปรับตัวการอบรมเลี้ยงดูบุตร รวมทั้งค้นหาแนวทางปรับตัวและอบรมเลี้ยงดูบุตรของแม่วัยรุ่นที่ต้องดูแลบุตรเพียงลำพังผู้สามารถปรับตัวได้แล้ว ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสังเกตทั้งแบบไม่มีส่วนร่วม และแบบมีส่วนร่วม สัมภาษณ์เชิงลึก และสนทนากลุ่มกับกลุ่มผู้ใช้บริการ จำนวน 13 ราย และนักสังคมสงเคราะห์ จำนวน 3 ราย จากสหทัยมูลนิธิ พบว่า เงื่อนไขการปรับตัวและอบรมเลี้ยงดูบุตรของแม่วัยรุ่นมีทั้งปัจจัยบุคคลและปัจจัยสภาพแวดล้อม ส่วนกระบวนการปรับตัวมี 4 ขั้น ขั้นที่ 1 ประเมินสภาพปัญหา ขั้นที่ 2 ขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือแหล่งสนับสนุนทางสังคม ขั้นที่ 3 วางแผนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ขั้นที่ 4 ดำเนินการแก้ไขปัญหา เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องกลับไปประเมินปัญหาใหม่ ส่วนการอบรมเลี้ยงดูบุตร แม่วัยรุ่นใช้รูปแบบ เช่น 1. การอบรมเลี้ยงดูบุตรแบบรักสนับสนุน  2. การอบรมเลี้ยงดูบุตรแบบใช้เหตุผล 3. การอบรมเลี้ยงดูแบบตอบสนองความต้องการของเด็กเปลี่ยนแปลงไปตามวัย วุฒิภาวะ และเพศ 4. การอบรมเลี้ยงดูบุตรแบบมีผู้ดูแลหลายคน แม่วัยรุ่นที่ปรับตัวได้จะมีรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูบุตรที่ชัดเจน สามารถทำบทบาทของตน เช่น การเลี้ยงดูบุตร การศึกษา การประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ สำหรับแนวทางการปรับตัวและการอบรมเลี้ยงดูบุตรของแม่วัยรุ่นจะเน้นไปที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ยอมรับความจริง ส่งเสริมให้แม่วัยรุ่นมองโลกในแง่ดี มีการทำกิจกรรมกลุ่มโดยเฉพาะ มีการเตรียมความพร้อมในการอบรมเลี้ยงดูบุตร และรู้จักขอความช่วยเหลือจากครอบครัวและแหล่งสนับสนุนทางสังคมต่างๆ โดยเงื่อนไขการปรับตัวและการอบรมเลี้ยงดูบุตรจะส่งผลต่อกระบวนการปรับตัวและการอบรมเลี้ยงดูบุตรแม่วัยรุ่นด้วย

Article Details

Section
-