ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับการปลูกกล้วยไข่ของเกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร

Main Article Content

สันติพงษ์ ศุภกิจเจริญ

Abstract

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับการปลูกกล้วยไข่ของเกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร และศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะของเกษตรกรเกี่ยวกับการดำเนินงานการปลูกกล้วยไข่ โดยเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างจากเกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 500 ตัวอย่าง ด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง การวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปได้ใช้สถิติเชิงพรรณนา ในส่วนของการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับการปลูกกล้วยไข่ได้ใช้แบบจำลอง Logit model โดยวิธี Maximum Likelihood Estimate ผลการวิจัย พบว่า เกษตรกรตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 31-40 ปี มีสถานภาพสมรสเป็นส่วนใหญ่สมรส ระดับการศึกษาส่วนใหญ่ชั้นประถมศึกษา จำนวนสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 3-5 คน แรงงานทางการเกษตรส่วนใหญ่ 3-5 คน ประสบการณ์ในการทำการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ที่น้อยกว่า 10 ปี จำนวนพื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 6-10 ไร่ และด้านรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนประมาณ 190,000 บาท/ปี ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับการปลูกกล้วยไข่ของเกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร พบว่า วิธีการปลูกกล้วยไข่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดมีผลต่อโอกาสที่จะปลูกกล้วยไข่เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.17 รองลงมา ได้แก่ การส่งเสริมการปลูกจากภาครัฐ ภาครัฐให้ความรู้ในการปลูกอย่างชัดเจน การจัดหาตลาดโดยภาครัฐ วิธีการดูแลรักษากล้วยไข่ ราคามีผลต่อการปลูกกล้วยไข่ และการสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษ ปัจจัยเหล่านี้ มีผลต่อโอกาสที่จะปลูกกล้วยไข่เพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 20-28 ตามลำดับ ส่วนผลตอบแทน(กำไร)มีผลต่อการปลูกกล้วยไข่ ความต้องการบริโภคมีผลต่อการปลูกกล้วยไข่ จำนวนแรงงานทางการเกษตร โดยปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อโอกาสที่เกษตรกรจะปลูกกล้วยไข่เพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 9-17 นอกจากนี้ยังพบว่าอายุของเกษตรกรมีผลต่อโอกาสที่จะปลูกกล้วยไข่เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 1.19 เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบปัญหา และอุปสรรคของเกษตรกรที่จะปลูกกล้วยไข่ในจังหวัดกำแพงเพชรได้แก่ ปัญหาความเสี่ยงทางภัยธรรมชาติสูง ปัญหาการขาดแคลนตลาดรองรับผลผลิต ปัญหาความต้องการของผู้บริโภค ปัญหาด้านราคา ปัญหาต้นทุนสูง ปัญหาขาดแคลนน้ำ ปัญหา ด้านเงินทุน ปัญหาเรื่องการดูแลรักษา และปัญหาขาดความรู้ความเข้าใจในการปลูกที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันเกษตรกรได้มีข้อเสนอแนะต่างๆได้แก่ ควรมีการจัดหาตลาดรองรับผลผลิตหรือขยายตลาดเพิ่มขึ้นโดยรัฐ ควรมีการรับประกันราคา เงินช่วยเหลือจากรัฐ ควรมีระบบชลประทานเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ และควรจัดให้มีการแนะนำการปลูกกล้วยอย่างชัดเจน

Article Details

Section
บทความทางวิชาการ (Academic article)