แนวทางพัฒนาจริยธรรมนักการเมืองไทย

Main Article Content

ศรัณย์ วงศ์คำจันทร์

Abstract

การวิจัยครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1. ศึกษาตัวแบบจริยธรรมนักการเมืองไทย 2. การยืนยันตัวแบบจริยธรรมนักการเมืองไทย 3. ศึกษาจริยธรรมนักการเมืองไทย 4. เปรียบเทียบจริยธรรมนักการเมืองไทย จำแนกตามเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อเดือน 5. ศึกษาแนวทางพัฒนาจริยธรรมนักการเมืองไทย  และ 6. ประเมินแนวทางพัฒนาจริยธรรมนักการเมืองไทย การวิจัยนี้เป็นการวิจัยผสานวิธี คือการวิจัยเชิงคุณภาพ และการวิจัยเชิงปริมาณ  ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่  นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านจริยธรรม การบริหาร การเมือง และการปกครอง  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2,305 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสัมภาษณ์ และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา การหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test independent) การวิเคราะห์ ความแปรปรวน (F-test) และ การเปรียบเทียบรายคู่ด้วยวิธีการของ Dunnett T3 ผลการวิจัยพบว่า ตัวแบบจริยธรรมนักการเมืองไทย 28 ข้อ เช่น มีความละอายใจ ไม่ทำความชั่ว สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย (หิริ) มีความเกรงกลัวต่อผลของการกระทำความชั่วและอาญาแผ่นดิน (โอตตัปปะ) มีความรู้เกี่ยวกับความดี คือรู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว เป็นต้น ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเพื่อยืนยันตัวแบบจริยธรรมนักการเมืองไทย พบว่าอยู่ในระดับเห็นด้วยมากที่สุด (= 4.74)  ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อจริยธรรมนักการเมืองไทย พบว่า นักการเมืองไทยมีจริยธรรม โดยภาพรวมอยู่ในระดับ มีน้อย (= 2.35) การเปรียบ เทียบจริยธรรมนักการเมืองไทยจำแนกตามเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ และ รายได้ต่อเดือนของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า มีความคิดเห็นต่อจริยธรรม นักการเมืองไทยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แนวทางพัฒนาจริยธรรมนักการเมือง ได้แก่ 1) มาตรการพัฒนาจริยธรรม เช่น  รัฐต้องกำหนดให้การพัฒนาจริยธรรม เป็นนโยบายเร่งด่วนและสำคัญของชาติ มีหน่วยงานรับผิดชอบในการพัฒนาจริยธรรมนักการเมือง จัดทำโครงการพัฒนาจริยธรรมนักการเมืองทุกระดับ 2) มาตรการกำหนดคุณสมบัติด้านจริยธรรม เช่น มีประวัติดีงามไม่เสื่อมเสียทางจริยธรรม ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น และ3) มาตรการกำหนดบทลงโทษในกรณีที่ทำความผิด เช่น ตัดสิทธิเลือกตั้งนักการเมืองที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งตลอดชีวิต ตัดสิทธิเลือกตั้งคู่สมรสและบุตร  5 ปี ตัดสิทธิเลือกตั้งนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นตลอดชีวิต เป็นต้น การประเมินแนวทางพัฒนาจริยธรรมนักการเมืองไทย  พบว่า  อยู่ในระดับมากที่สุด คือ มาตรฐานการใช้ประโยชน์ได้ (= 4.66) และ มาตรฐานความเหมาะสม (= 4.65)  และ มาตรฐานความเป็นไปได้ (= 4.46) อยู่ในระดับมาก

Article Details

Section
-