การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมหินอ่อนพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร

Main Article Content

สุวิทย์ วงษ์บุญมาก

Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมหินอ่อนพรานกระต่าย รวมทั้งกระบวนการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมหินอ่อนพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เป็น      การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้ประกอบอาชีพหัตถกรรม หินอ่อนพรานกระต่าย ไม่น้อยกว่า 5 ปี ผู้อาวุโส ปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งหมด จำนวน 74 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก แบบการสนทนากลุ่ม ผลการศึกษา พบว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมหินอ่อนพรานกระต่าย เกิดจากการนำหินอ่อนพรานกระต่าย  ซึ่งเป็นเหมืองหินอ่อนแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีสีชมพูสวยงาม และเป็นที่ต้องการของตลาด มาทำเป็นผลิตภัณฑ์หินอ่อนพรานกระต่ายได้ 3 ประเภท คือ 1) ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมไทย และจีน 2) เครื่องตกแต่งอาคารบ้านเรือนและของใช้เบ็ดเตล็ด 3) งานแกะสลักของไหว้ ซึ่งองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตการผลิตสินค้าของคนในท้องถิ่น จึงมีการถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ส่วนกระบวนการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมหินอ่อนพรานกระต่าย มี 7 ขั้นตอน คือ 1) การกำหนดความรู้ ตามหลักคิดของชาวบ้าน เน้นคติด้านวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยมที่มีอยู่ในท้องถิ่น   ที่ชาวบ้านมุ่งอธิบายตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น 2) การสร้างและแสวงหาความรู้ ด้วยวิธีการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การแสวงหาความรู้จากนายจ้าง และการทำตามแบบความต้องการของลูกค้า 3) การจัดความรู้ให้เป็นระบบ มีการวาดแบบภาพหัตถกรรมหินอ่อนไว้ในสมุดบันทึก ภาพถ่ายและ วีดิทัศน์ 4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ เป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคล (Tacit Knowledge) มีการประมวลความรู้ในการเขียนรูปแบบผลิตภัณฑ์หินอ่อนและภาษาที่เข้าใจง่าย 5) การเข้าถึงความรู้ การจัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ วีดิทัศน์ การจัดทำเอกสารเผยแพร่องค์ความรู้ การสาธิต การเขียนแบบ และการสืบทอดด้วยวาจา 6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ มีการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างไม่เป็นทางการ การเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ที่ทีมวิจัยจัดขึ้น องค์ความรู้บนเว็บไซต์ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นายจ้างถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ลูกจ้าง ส่วนครอบครัวมีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากพ่อแม่สู่ลูก และเครือญาติ 7) การเรียนรู้ การนำความรู้มาใช้ประโยชน์เกิดระบบการเรียนรู้สร้างองค์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ นำไปสู่การปรับตัวและพัฒนาหัตถกรรมหินอ่อนพรานกระต่าย ดังนั้น องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมหินอ่อนพรานกระต่ายเป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง นำมาสู่การเผยแพร่ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง และมีการนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมหินอ่อนพรานกระต่ายไปถ่ายทอดแก่เด็กและเยาวชนผ่านเอกสารเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมหินอ่อนพรานกระต่ายสู่สถานศึกษาที่อยู่ในท้องถิ่น

Article Details

Section
-