แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลราชภัฏกำแพงเพชรและศูนย์เด็กปฐมวัย

Main Article Content

พัทธนันท์ วงษ์วิชยุตม์

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาสภาพการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลราชภัฏกำแพงเพชรและศูนย์เด็กปฐมวัย 2. หาแนวทางพัฒนาการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลราชภัฏกำแพงเพชรและศูนย์เด็กปฐมวัย ประชากร ประกอบด้วย ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอนุบาลราชภัฏกำแพงเพชร และศูนย์เด็กปฐมวัย จำนวน 192 คน ผู้บริหารและบุคลากรโรงเรียนอนุบาลราชภัฏกำแพงเพชรและศูนย์เด็กปฐมวัยจำนวน 38 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินความเป็นไปได้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลราชภัฏกำแพงเพชร และศูนย์เด็กปฐมวัย ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบุคลากรและการบริหารจัดการ ด้านวิชาการและกิจกรรมตามหลักสูตร ด้านอาคารสถานที่สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และด้านการมีส่วนร่วมและสนับสนุนจากชุมชน การปฏิบัติอยู่ในระดับมาก 2) แนวทางพัฒนาการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลราชภัฏกำแพงเพชรและศูนย์เด็กปฐมวัยมีแนวทางหลักดังนี้  1) ด้านบุคลากรและการบริหารจัดการ ควรมีการพัฒนาความรู้และประสบการณ์ให้กับบุคลากรอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการที่หลากหลาย และกำหนดมาตรการให้นำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้ในการปฏิบัติงาน มีการสร้างการติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรที่ชัดเจน และตรวจสอบได้ จัดทำภาระงานชัดเจนเพื่อเป็นกรอบในการจัดหาอัตรากำลังให้เหมาะสม และกำหนดโครงสร้างการบริหารงานของโรงเรียน และศูนย์เด็กปฐมวัยที่ชัดเจนเหมาะสมกับบริบทของการดำเนินงานของโรงเรียนและศูนย์เด็กปฐมวัย 2) ด้านวิชาการและกิจกรรมตามหลักสูตร ควรจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่ชัดเจน ตลอดจนสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมที่เหมาะสมกับวัย จัดหาสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย และสนับสนุนให้ครูได้มีการพัฒนาตนเอง โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ส่วนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาควรให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม 3) ด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ควรมีการจัดหาเครื่องเล่นสนามให้เพียงพอ และตรวจสอบความปลอดภัย มีการปรับภูมิทัศน์ของโรงเรียนและศูนย์เด็กปฐมวัยให้สวยงามร่มรื่น มีเวชภัณฑ์ที่เพียงพอ และพร้อมใช้งาน ตลอดจนมีครูที่ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นผู้ดูแล มีสถานที่ประกอบอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และบุคลากรที่ดูแลเกี่ยวกับโภชนาการของเด็ก ควรผ่านการอบรมจากสาธารณสุข และ4) ด้านการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากชุมชน ควรประชุมชี้แจงการดำเนินงานของโรงเรียนและศูนย์เด็กปฐมวัยให้ผู้ปกครองและชุมชนทราบอย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง และมีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของโรงเรียนและศูนย์เด็กปฐมวัยให้ชุมชนทราบ ให้ตัวแทนของชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการโรงเรียนและศูนย์เด็กปฐมวัย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ

Article Details

Section
-