การจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชร

Main Article Content

ปาณิสรา จรัสวิญญู
ฉัตรชนก จรัสวิญญู

Abstract

บทคัดย่อ

การศึกษาการจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชร มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ 1) เพื่อจัดทำโครงสร้างของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชร และ 2) เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์ของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชร โดยทำการศึกษาจากข้อมูลทุติยภูมิ ข้อมูลเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จำนวน 20 คน และข้อมูลเชิงปริมาณ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจำนวน 400 คน และเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชรจำนวน 145 ธุรกิจ สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ แบบสอบถาม (Questionnaire) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ แบบสัมภาษณ์เจาะลึก (Indept Interview) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการศึกษาพบว่า โครงสร้างของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชรประกอบด้วยธุรกิจหลัก 6 ประเภทได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจจำหน่ายของฝากและของที่ระลึก ธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจคมนาคมขนส่ง ธุรกิจนำเที่ยว และธุรกิจสถานบันเทิง ในด้านโครงสร้างต้นทุนของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชรนั้น พบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อต้นทุนของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวคือ แรงงานและพลังงาน ในขณะที่จังหวัดกำแพงเพชร แม้จะมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ นันทนาการ และวัฒนธรรมก็ตาม แต่ผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวเหล่านี้ยังขาดเอกลักษณ์ จึงจำเป็นต้องสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายการจัดการด้านการท่องเที่ยวและเครือข่ายธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา

สำหรับแผนกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชรนั้น ได้กำหนดวิสัยทัศน์คือ “การเป็นเครือข่ายธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสทั้งวิถีชีวิตอันงดงามและธรรมชาติที่บริสุทธิ์” โดยสามารถแบ่งประเด็นพันธกิจได้ 3 ประเด็นคือ 1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ 2) การพัฒนาเครือข่ายธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และ 3) การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว สำหรับกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ควรใช้กลยุทธ์การเจริญเติบโต (Growth Strategy) เป็นกลยุทธ์พื้นฐานระดับองค์กร ซึ่งใช้กลยุทธ์การเจริญเติบโตจากภายใน (Internal Growth) และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) การพัฒนาและขยายตลาด (Market Development and Expansion) และการกระจายธุรกิจ (Diversification) จากการวิเคราะห์กลยุทธ์ระดับองค์กรด้วยเทคนิคเน้นความสามารถหลัก (Core Competencies Matrix) ในขณะที่กลยุทธ์การแข่งขันระดับหน่วยธุรกิจ ที่ควรนำมาใช้ในปัจจุบันคือ กลยุทธ์การเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) ในขณะที่กลยุทธ์การแข่งขันระดับหน่วยธุรกิจที่ควรนำมาใช้ในอนาคตคือ กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง (Differentiation) และกลยุทธ์ระดับหน้าที่ด้านการตลาดที่ควรนำใช้คือ กลยุทธ์ตีด้านข้าง (Flanking Attack Strategies) โดยการเน้นจัดกิจกรรมต่างช่วงเวลากับกิจกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียง และกลยุทธ์ตีผ่าน (Bypass Attack Strategies) โดยการสร้างกิจกรรมใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากกิจกรรมเดิมๆ ในขณะเดียวกันกลยุทธ์ระดับปฏิบัติงานนั้น กลยุทธ์การจัดการทรัพยากรมนุษย์ ควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะที่จำเป็นของพนักงานในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวแต่ละประเภทอย่างต่อเนื่อง  กลยุทธ์ด้านการเงินควรเป็นไปในทิศทางการพึ่งพาแหล่งเงินทุนภายในของกิจการและการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ กลยุทธ์ด้านการผลิตควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพการบริการและคุณภาพสินค้าแทนการลงทุนในทรัพย์สิน และกลยุทธ์การวิจัยและพัฒนา ควรมุ่งเน้นแนวทางการสร้างเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว การพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างเครือข่ายธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง

 

Abstract

There are 2 objectives in developing a strategic plan to improve the tourism business in Kamphaeng Phet. The first objective is to make the structure of tourism business in Kamphaeng Phet and another is to make a strategic plan for tourism business in Kamphaeng Phet by studying the secondary and qualitative data. The qualitative data is collected by interviewing 20 people who involve in tourism industry, 400 tourists, and 145 entrepreneurs in tourism industry. The tool, which is used in quantitative analysis, is questionnaire and analyzes data by using mean, percentage, and standard deviation value. In qualitative analysis, the in-depth interview and content analysis are used.

The structure of tourism industry in Kamphaeng Phet composes of 6 businesses, which are food and drink, souvenir, hotel, transportation, guided tour, and entertainment. In cost structure of tourism industry, the main factors are labor and energy. Though there are a lot of interesting places in Kamphaeng Phet, the tourism product is not unique. We have to build the uniqueness in tourism product, develop tourism management, and tourism network. We also need to develop the human resources in this industry by find the corporation among government, private business, and education institutes.

The vision of strategic plan development in Kamphaeng Phet is “an efficient tourism network, touching of nice life style, and natural beauty”. The essential missions are a uniqueness creation, a tourism network development and human resources development. The strategy of tourism business is growth strategy, which is fundamental strategy of each organization. It develops from internal growth and emphasize on product development, market development and expansion, and diversification. The competitive strategies are cost leadership, differentiation, flanking attack strategies by arranging promotion activities in different period with neighboring provinces, and bypass attack strategies by introducing new activities which are different existing activities. for human resources strategy, we should emphasize on continuous developing the necessary skills in tourism business. For financial strategy, we should find an internal source of capital and get support from government. For production strategy, we should emphasize on quality of service and product instead of investment in fixed asset. For research and development strategy, we should emphasize on uniqueness of tourism products, development of competitive competence, and building strong tourism network.

Article Details

Section
-