การรับและจำหน่ายทรัพย์มรดกของพระภิกษุ: ความสัมพันธ์กับพระวินัยและปัญหาในทางปฏิบัติ

ผู้แต่ง

  • Sompornnuch Tansrisook Faculty of Arts, Chulalongkorn University

คำสำคัญ:

กฎหมายมรดก, พระภิกษุ, พระสงฆ์, วัด, ทรัพย์มรดก

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะศึกษาวิเคราะห์การรับและจำหน่ายทรัพย์มรดกของพระภิกษุโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 1622-1623 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยซึ่งรับรองความสามารถของพระภิกษุในการเป็นทายาทโดยพินัยกรรม-จำหน่ายทรัพย์สิน และการตกทอดของมรดกไปยังสงฆ์เมื่อพระภิกษุนั้นมรณภาพใน 2 ประเด็น ได้แก่ ความสัมพันธ์ของข้อกฎหมายกับพุทธบัญญัติในพระวินัย และปัญหาความไม่เหมาะสมจากการตีความกฎหมายที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกา ผลการศึกษาพบว่า ข้อกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่เปิดช่องให้เจ้ามรดกถวายทรัพย์สินของตนแก่พระภิกษุที่ตนเลื่อมใสศรัทธาและพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมที่จะเป็นปฏิคาหก  โดยคาดหวังว่าพระภิกษุนั้นเมื่อรับมาแล้วจะได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์  ในทางปฏิบัติ พระภิกษุสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้และทำนิติกรรมจำหน่ายทรัพย์สินผ่านเอกสารสิทธิโดยไม่ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แม้จะขัดพระวินัยซึ่งห้ามไม่ให้พระภิกษุรับ ใช้จ่ายเงิน และแลกเปลี่ยนสิ่งของ กล่าวคือ พระสงฆ์สามารถดำเนินการต่างๆ กับทรัพย์มรดกได้ ได้แก่ การให้คืนกลับไปยังทายาทอื่น เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ของเจ้ามรดกฟ้องตามมูลหนี้เดิม  ตลอดจนสละแก่สงฆ์หรือบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น  การศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องทำให้เห็นว่ามูลคดีเกิดขึ้นจาก (1) ความไม่สำรวมในพระธรรมวินัยของพระภิกษุและวัด และ (2) ความไม่สุจริตของเอกชนคู่ความ   ซึ่งมีสาเหตุสำคัญคือการยอมรับผลตามกฎหมายของนิติกรรมที่พระภิกษุทำทั้งที่ตามพระวินัยเป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์   จากการศึกษาวิเคราะห์ข้างต้น  ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายซึ่งจำกัดสิทธิไม่ให้พระภิกษุรับและจำหน่ายทรัพย์มรดก   การรับและจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวย่อมไม่เป็นอาบัติหากพระภิกษุจัดการทรัพย์สินตามสถานะของท่าน  ในการช่วยแก้ปัญหานิติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระภิกษุ  ควรทบทวนแก้ไขให้มีแนวปฏิบัติในการจัดการทรัพย์สินของพระภิกษุและพระสงฆ์ให้สอดคล้องกับพุทธบัญญัติ  นอกจากนี้  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรเป็นไวยาวัจกรของคณะสงฆ์ไทย  มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลนิติกรรมต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินที่พระภิกษุหรือพระสงฆ์ถือครองและเป็นผู้ดำเนินคดีในศาลแทนกรณีที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-03-15