การคัดค้านผลการเลือกตั้งโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ผู้แต่ง

  • ฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คำสำคัญ:

การคัดค้านผลการเลือกตั้ง, วิธีพิจารณาคดีเลือกตั้ง

บทคัดย่อ

 รายงานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบการตรวจสอบความสุจริตและเที่ยงธรรมของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นการวิเคราะห์ระบบคดีเลือกตั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อค้นหาหลักการที่สำคัญในการก่อตั้งระบบการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงข้อเสนอแนะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิรูปกฎหมายวิธีพิจารณาคดีเลือกตั้งและการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยโดยผู้แทนในประเทศไทย

 จากการศึกษาพบว่า ระบบการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพนั้น ไม่อาจมุ่งเน้นเพียงแต่การประกันความเที่ยงธรรมของกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของประชาชนและในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย กล่าวคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะต้องมีสิทธิในการคัดค้านผลการเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งคือการแสดงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถคัดค้านผลการเลือกตั้งได้จึงเปรียบเสมือนการกำหนดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการแสดงเจตจำนงของตนเองได้ นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ต่อเมื่อมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด และการยกเลิกผลการเลือกตั้งจะเป็นกรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เช่นมีการกระทำความผิดที่ส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการยกเลิกผลการเลือกตั้งย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น การตรวจสอบความสุจริตและเที่ยงธรรมของการเลือกตั้งจึงมิใช่กระบวนการมุ่งเน้นการยกเลิกผลการเลือกตั้งเป็นเป้าหมาย หากแต่จะต้องเป็นกระบวนการที่สามารถประกันความยุติธรรมในการแสดงเจตจำนงของปวงชนโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อฝ่ายนิติบัญญัติ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-17