“ใต้เงาเศวตฉัตร” ว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ตอนที่ 2)*

ผู้แต่ง

  • กริช ภูญียามา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

สมเด็จพระสังฆราช, พระราชอำนาจ, พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

บทคัดย่อ

แม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์จะมีบทบัญญัติระบุถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช แต่กล่าวได้ว่าการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชในแต่ละครั้งยังคงเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจอันมีแหล่งที่มาจากรัฐธรรมนูญในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ดังกล่าว ทั้งนี้ บทบัญญัติเกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นเพียง “บทขยายความ” ให้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยจากการศึกษาพบว่ารัฐธรรมนูญอันเป็นแหล่งที่มาแห่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ของพระมหากษัตริย์มีลักษณะแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลา กล่าวคือ กฎเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งที่ปรากฏในรูปของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี หลักกฎหมายทั่วไปทางรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ว่ารัฐธรรมนูญอันเป็นแหล่งที่มาแห่งพระราชอำนาจจะปรากฏในรูปแบบใด ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การใช้พระราชอำนาจในเรื่องนี้ของพระมหากษัตริย์ล้วนเป็นไปตามการถวายคำแนะนำของฝ่ายบริหาร สำหรับขั้นตอนและวิธีการถวายคำแนะนำคือ ฝ่ายบริหารจะประสานกับฝ่ายคณะสงฆ์แล้วเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน เพื่อให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้จะได้รับการสถาปนาคือเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ แบบแผนเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการสถาปนารวมทั้งคุณสมบัติของพระเถระผู้จะได้รับการสถาปนาเช่นนี้ มีการยึดถือปฏิบัติกันมาจนกระทั่งกลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณี และภายหลังถูกนำมาบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในมาตรา 7 วรรคสองและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ การที่หลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 วรรคสองและวรรคสามดังกล่าวถูกยกเลิกไปโดยผลของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ย่อมทำให้กฎหมายจารีตประเพณีในเรื่องนี้กลับมามีผลใช้บังคับอีกครั้ง เพราะฉะนั้น ขั้นตอนและวิธีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจึงต้องเกิดจากการประสานกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายคณะสงฆ์ ประการสำคัญคือคุณสมบัติของสมเด็จพระราชาคณะที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชก็ยังคงต้องเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์

คำสำคัญ: สมเด็จพระสังฆราช พระราชอำนาจ พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-20