ขอบเขตของการกระทำชำเรา การกระทำอนาจาร และการคุกคามทางเพศ

ผู้แต่ง

  • วิวรรธน์ ดำรงค์กุลนันท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

คำสำคัญ:

ขอบเขต, การกระทำชำเรา, การกระทำอนาจาร, การคุกคามทางเพศ

บทคัดย่อ

ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติ “ความผิดฐานกระทำชำเรา” “ความผิดฐานกระทำอนาจาร”และ “ความผิดฐานคุกคามทางเพศ” ไว้ ทั้งนี้ มีเพียงเฉพาะความผิดฐานกระทำชำเราเท่านั้นที่ได้มีการบัญญัติขอบเขตแห่งการกระทำไว้ โดยบัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตรา 276 มาตรา 277 และมาตรา 366/1 ส่วนความผิดฐานกระทำอนาจาร และความผิดฐานคุกคามทางเพศนั้น ไม่ได้มีการบัญญัติขอบเขตแห่งการกระทำไว้แต่อย่างใด

            ในส่วนของ“ความผิดฐานกระทำชำเรา” แม้ประมวลกฎหมายอาญาจะได้บัญญัติขอบเขตแห่งการกระทำไว้ แต่ศาลฎีกาในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6323/2557 ได้วินิจฉัยไว้เป็นนัยว่า “หญิง” ผู้กระทำไม่อาจใช้อวัยวะเพศของตนกระทำชำเรา “หญิง” ผู้ถูกกระทำได้ ทั้งที่ในปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติความหมายของคำว่า“การกระทำชำเรา” ไว้โดยใช้คำว่า “ผู้กระทำ” กระทำกับ “ผู้อื่น”ไม่ได้ใช้คำว่า “ชายใด” กระทำกับ“หญิงอื่น” แต่อย่างใด และในส่วนของ “ความผิดฐานกระทำอนาจาร” นั้น แม้จะไม่ได้มีการบัญญัติขอบเขตแห่งการกระทำไว้ แต่ในทางปฏิบัติและทางวิชาการก็ได้เคยตีความไว้ว่า “การกระทำอนาจาร หมายความว่า การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ”ทั้งนี้ จะต้องเป็นการกระทำ “ต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้ถูกกระทำ”เท่านั้น กระทั่งศาลฎีกาในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12983/2558 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2559 ได้วินิจฉัยไว้ว่า การกระทำอนาจารไม่จำเป็นที่ผู้กระทำจะต้องมีการสัมผัสต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้ถูกกระทำแต่อย่างใด

            การที่ศาลฎีกาในคำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้เช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดประเด็นปัญหาในเรื่องขอบเขตของ“การกระทำชำเรา” “การกระทำอนาจาร” และ “การคุกคามทางเพศ”ผู้เขียนจึงทำการศึกษาเพื่อค้นคว้าถึงแนวความคิด พัฒนาการ องค์ประกอบความผิด ความผิดสำเร็จ ขอบเขต และตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยถึงขอบเขตของการกระทำชำเรา การกระทำอนาจาร และการคุกคามทางเพศ เพื่อให้การปรับใช้บทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และก่อให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-03-15