การพัฒนากฎหมายการกำกับดูแลมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชนไทยเพื่อให้สอดคล้องกับความผูกพันในความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียนสาขาการศึกษา
คำสำคัญ:
การพัฒนากฎหมาย, กฎหมายการศึกษา, มาตรฐานการศึกษา, มหาวิทยาลัยเอกชนไทย, กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียนบทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากฎหมายในการกำกับดูแลมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชนไทยเพื่อให้สอดคล้องกับความผูกพันในความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียนสาขาการศึกษา ซึ่งใช้วิธีดำเนินการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพผสมผสานกัน พบว่าการกำกับดูแลการจัดการศึกษาในพันธกิจหลักอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งเป็นบริการสาธารณะให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานและระบบประกันคุณภาพการศึกษาทั้งระดับสถาบัน ระดับคณะ และระดับหลักสูตรเช่นเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐนั้นอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและกฎระเบียบเช่นเดียวกับสมาชิกอาเซียนอื่น (สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม) และพบว่ามีปัญหากฎหมายจากมาตรการที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลในเชิงควบคุม เกณฑ์มาตรฐานบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับบริบทเฉพาะและสภาวการณ์ สภาสถาบันมีปัญหาด้านองค์ประกอบและความถี่ในการประชุม การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลยังมีปัญหาด้านแนวทางปฏิบัติในการตรวจประเมินก่อให้เกิดความยุ่งยากและภาระงานที่มากเกินไป ความสับสนเกี่ยวกับทิศทางการกำกับดูแล และสภาวิชาชีพเข้ามาแทรกแซงการจัดทำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเอกชน อย่างไรก็ตามมีข้อค้นพบว่ากฎหมายและกฎเกณฑ์ของไทยไม่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อพันธกรณีของไทยภายใต้ความผูกพันในกรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (AFAS) ในทุกรูปแบบการให้บริการ และความตกลง AFAS ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานอุดมศึกษาของไทย
ผลการวิจัยได้ข้อเสนอแนะว่าควรพัฒนากฎระเบียบโดยคำนึงถึงการกำกับดูแลที่มุ่งให้มีมาตรฐานการศึกษาที่ชัดเจน ครอบคลุม ใช้บังคับได้ เท่าเทียมกัน มีประสิทธิผล ยืดหยุ่นตามอัตลักษณ์ ความถนัด เชี่ยวชาญ เน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์มากกว่าการสร้างอาคารสถานที่ ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนพื้นฐานของความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และการมีฉันทามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรแก้ไขคำสั่งของหัวหน้า คสช. และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับบริบทเฉพาะและสภาวการณ์ ควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในส่วนของจำนวนและคุณสมบัติกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ และความถี่ในการประชุมสภาสถาบัน หน่วยงานกำกับดูแลควรเน้นสร้างมาตรการทางกฎหมายในการขจัดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเอกชนและของรัฐ ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์การเรียนรู้ และเพิ่มมาตรการอุดหนุนและส่งเสริมให้แก่มหาวิทยาลัยเอกชน ควรพัฒนาบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีนอมินีไทยให้แก่นักลงทุนต่างชาติและกรณีจัดตั้งสำนักงานผู้แทนในไทยในการประกอบกิจการจัดตั้งและบริหารมหาวิทยาลัยเอกชน
Downloads
เผยแพร่แล้ว
License
ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สงวนสิทธิในการเผยแพร่ผลงานที่ตีพิมพ์ในแบบรูปเล่มและทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
บทความหรือข้อความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารนิติศาสตร์เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเฉพาะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรณาธิการไม่จําเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ