การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้
คำสำคัญ:
ตราสารหนี้, กองทุนรวม, ภาษี, ภาษีเงินได้, ลงทุน, ผลกระทบบทคัดย่อ
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นสมควรให้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม) ประกาศใช้เป็นกฎหมาย และต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้นิยามคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” หมายความรวมถึงกองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือกฎหมายอื่น หรือจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งมีผลทำให้กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งตามกฎหมายของต่างประเทศเป็นหน่วยภาษี และเมื่อมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) กองทุนรวมนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด เพื่อให้ภาระภาษีของบุคคลที่ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงกับลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมมีความเสมอภาคกัน อย่างไรก็ดี จากการศึกษากฎหมายต่างประเทศพบว่า หลายประเทศเลือกจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ที่ระดับบุคคลแทนการจัดเก็บที่ระดับกองทุนไม่ว่าจะลงทุนด้วยวิธีใด โดยกองทุนเป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น (pass-through entity) โดยกำหนดให้ผู้ลงทุนนำเงินได้ดังกล่าวไปรวม คำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นหรือกำหนดให้ใช้วิธีประเมินภาษีแบบพิเศษแยกออกมา
การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกองทุนรวมสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) ที่กองทุนรวมได้รับแม้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในระหว่างผู้ลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมกับ ผู้ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงก็ตาม แต่การที่กระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะเก็บภาษีจากกองทุนรวมจากการลงทุนในตราสารหนี้เท่านั้น โดยมีแผนออกกฎหมายลำดับรองยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมจากการลงทุนในตราสารทุน ในอสังหาริมทรัพย์ หรืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตราสารหนี้ก่อให้เกิดประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปหลายประการ เช่น ความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้กับกองทุนรวมประเภทอื่น ความเสี่ยงในการลงทุนผ่านกองทุนรวม ผลต่อค่าตอบแทนของผู้ลงทุน และผลกระทบต่อตลาดรอง
Downloads
เผยแพร่แล้ว
License
ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สงวนสิทธิในการเผยแพร่ผลงานที่ตีพิมพ์ในแบบรูปเล่มและทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
บทความหรือข้อความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารนิติศาสตร์เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเฉพาะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรณาธิการไม่จําเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ