การปะทะกันแห่งคุณค่าในกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย
คำสำคัญ:
คุณค่า, การปะทะกันแห่งคุณค่า, ประชาธิปไตย, รัฐธรรมนูญบทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ตามปรัชญาว่าด้วยคุณค่า (Philosophy of Values) ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นเวลาช้านานในสังคมตะวันตกนั้น คุณค่าที่ปรากฏตัวขึ้นในสังคมการเมืองจะมิได้เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับความดีงาม ทัศนคติพื้นฐาน หรือจารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่ผู้คนยึดถือร่วมกันเท่านั้น แต่คุณค่าต่างๆ เหล่านั้นยังทำหน้าที่ในการกำกับการใช้และการตีความกฎหมายของศาลด้วย อย่างไรก็ตามคุณค่าทั้งหลายที่ได้รับการยอมรับโดยประชาชนกลุ่มต่างๆ ในสังคมการเมืองนั้นอาจมีลักษณะที่ขัดแย้งกันเองหรือแข่งขันกันเองได้ด้วย และในการชี้ขาดข้อพิพาททางกฎหมายนั้น อาจมีความจำเป็นที่ศาลจะต้องทำการชี้ขาดคุณค่าหรือตัดสินคุณค่าเป็นเบื้องต้นเสียก่อน ทฤษฎีว่าด้วยคุณค่านั้นถูกนำมาใช้ร่วมกับการอธิบายหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วย ทั้งนี้คุณค่าพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในสังคมการเมืองประชาธิปไตยนั้นได้แก่ การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและความเสมอภาคของประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมการเมืองนั้นๆ อย่างไรก็ตามแม้รัฐหรือสังคมการเมืองใด จะได้ตัดสินใจเลือกรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่ในสังคมนั้นๆ อาจมีคุณค่าบางประการที่ปรากฏตัวหรือเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งระบอบประชาธิปไตยขึ้นก็เป็นได้ คุณค่าเช่นว่านี้อาจมีลักษณะที่ไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างคุณค่าขึ้น การปะทะกันนี้ส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยในรัฐนั้นไม่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่ และอาจต้องล่มสลายลงในที่สุด
สังคมไทยนั้นเป็นตัวอย่างอันดีของสังคมที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างคุณค่าทั้งหลาย แต่ในแง่กฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น การปะทะกันแห่งคุณค่าซึ่งเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมากที่สุดได้แก่การปะทะกันระหว่าง “หลักการประชาธิปไตย” กับ “จารีตในสังคมการเมืองไทย” ทั้งนี้สังคมการเมืองไทยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างที่ยึดถือลำดับชั้นของสถานะทางสังคมของบุคคลต่างๆ อย่างชัดเจน ทำให้หลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะหลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและหลักความเสมอภาคนั้นไม่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างแท้จริง ตัวอย่างการปะทะกันแห่งคุณค่าในกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยที่มีความสำคัญมากที่สุดได้แก่ ความขัดแย้งกันระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการรักษาสถานะในทางรัฐธรรมนูญและในทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ในฐานะคุณค่าพื้นฐานของสังคมไทย การขัดแย้งกันในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทายศาลไทยเป็นอย่างยิ่งว่า ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทในแง่คุณค่าดังกล่าวนั้น ศาลจะใช้และตีความกฎหมายไปในแนวทางเพื่อรักษาคุณค่าใดเป็นสำคัญ การตัดสินคุณค่าพื้นฐานดังกล่าวของศาลนี้เองที่เป็นเครื่องชี้ได้อย่างดีว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่
Downloads
เผยแพร่แล้ว
License
ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สงวนสิทธิในการเผยแพร่ผลงานที่ตีพิมพ์ในแบบรูปเล่มและทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
บทความหรือข้อความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารนิติศาสตร์เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเฉพาะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรณาธิการไม่จําเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ