โทษจำคุกตลอดชีวิตที่ไม่ควรตลอดชีวิต: มุมมองจากคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

ผู้แต่ง

  • กันต์ มูลสาร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

คำสำคัญ:

โทษจำคุกตลอดชีวิต, ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

บทคัดย่อ

การลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐในการบรรลุถึงหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่ในการลงโทษนั้น รัฐพึงต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำความผิดด้วย อันเป็นไปตามพันธกรณีในข้อ 3 ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights) ที่กำหนดให้การลงโทษผู้กระทำความผิดจะต้องไม่เป็นการลงโทษที่ทารุณโหดร้ายหรือทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มรัฐสมาชิกของอนุสัญญาดังกล่าว คือ การกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตแก่ผู้กระทำความผิดจะเป็นการฝ่าฝืนต่อพันธกรณีตามข้อ 3 ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องโทษนั้นหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมานั้น ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) ได้มีคำพิพากษาเป็นการวางหลักการไว้ว่า วัตถุประสงค์หลักของการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด คือ การบำบัดฟื้นฟูแก้ไขให้ผู้นั้นกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข (Rehabilitation) ดังนั้น การกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยศาลภายในรัฐสมาชิกนั้นจึงจะต้องมีกระบวนการในการพิจารณาทบทวนคำพิพากษาลงโทษดังกล่าว และเปิดโอกาสให้มีการลดหย่อนผ่อนโทษหรือปล่อยตัวผู้ต้องโทษนั้นได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะต้องได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในกฎหมาย และต้องมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลขึ้นจริงในทางปฏิบัติด้วย มิฉะนั้นแล้ว การกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตที่ไม่มีการดำเนินการดังกล่าว ย่อมเป็นการลงโทษที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน และฝ่าฝืนบทบัญญัติในข้อ 3 ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย แต่อย่างไรก็ตาม แม้ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจะยังคงยึดมั่นในแนวทางการกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตดังกล่าว แต่คำพิพากษาในระยะหลังกลับมีการวินิจฉัยที่ย้อนแย้งและมีผลแห่งคำพิพากษาที่แตกต่างกันในแต่ละคดี อันส่งผลต่อความเชื่อมั่นในบทบาทและการทำหน้าที่ของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ตลอดจนอาจนำไปสู่แนวปฏิบัติที่แตกต่างของรัฐสมาชิกในการกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิต

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-11-20