ข้อตกลงขยายอายุความในสัญญารับขนของทางทะเลใช้ได้หรือไม่

ผู้แต่ง

  • กำชัย จงจักรพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

การตีความกฎหมาย, การตีความการแสดงเจตนา, การขยายอายุความ

บทคัดย่อ

ประเด็นเรื่องอายุความอันเป็นข้อโต้แย้งกันในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2888/2549 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยตีความการแสดงเจตนาของจำเลยว่าการที่จำเลยมีหนังสือยินยอมให้ขยายเวลาออกไป 3 เดือน จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2544 นั้นหมายความว่าจำเลยยินยอมว่าจะไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ อันมีผลทำให้ความยินยอมนี้ใช้บังคับได้ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าการตีความการแสดงเจตนาของจำเลยตามหนังสือดังกล่าวว่าจำเลยยินยอมว่าจะไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้อาจมีข้อโต้แย้งได้ และเห็นว่าศาลยังมีแนวทางอื่นที่อาจนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนี้ กล่าวคือ แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนายินยอมขยายอายุความออกไปจนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2544  ความยินยอมนี้ก็มีผลใช้บังคับได้ ทั้งนี้ โดยหลักการตีความกฎหมายอย่างแคบ มาตรา 193/11 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ย่อมหมายถึงการแสดงเจตนาตกลงกันให้งดใช้ ขยาย หรือย่นอายุความไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ขณะทำสัญญาเท่านั้น ดังนั้น สำหรับคดีนี้ซึ่งมีการตกลงยินยอมให้ขยายอายุความภายหลังที่อายุความเริ่มนับแล้ว ความตกลงยินยอมนี้จึงมีผลใช้ได้ นอกจากนี้ตามหลักการตีความกฎหมายยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น เมื่อมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยอมรับให้คู่กรณีไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ ซึ่งมีผลเท่ากับว่าสิทธิเรียกร้องนั้นไม่มีกำหนดอายุความแล้ว การตกลงยินยอมให้ขยายอายุความอีกเพียงชั่วระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง หรืออีกเพียง 3 เดือนดังเช่นในคดีนี้ ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ในระยะเวลาเพียงเท่าที่จำกัดเท่านั้น จึงยิ่งต้องทำได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-03-24