แนวทางในการพิจารณาและเตรียมความพร้อมทางด้านกฎหมายของประเทศไทยสำหรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยข้อตกลงเลือกศาล ค.ศ. 2005: ศึกษาวิเคราะห์มาตราในเชิงเนื้อหาเป็นรายมาตรา (มาตรา 1 - 15)

ผู้แต่ง

  • กิตติวัฒน์ จันทร์แจ่มใส

คำสำคัญ:

ข้อตกลงเลือกศาล, อนุสัญญา, กฎหมายวิธีพิจารณาความ, เขตอำนาจศาล, การยอมรับและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

บทคัดย่อ

กฎหมายนับเป็นองค์ประกอบและปัจจัยพื้นฐานสำคัญประการหนึ่ง ในการพิจารณาเพื่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยข้อตกลงเลือกศาล ค.ศ. 2005 ของประเทศไทย บทความวิจัยฉบับนี้ตั้งต้นมาจากการตั้งคำถามหลักของการศึกษาว่า กฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่สอดรับกับอนุสัญญากรุงเฮกฯ หากประเทศไทยประสงค์จะเข้าเป็นภาคี จะต้องจัดให้มีกฎหมายเฉพาะเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญา และจะต้องทำการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น เพื่อการปฏิบัติตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญาและเพื่อประโยชน์ในการเข้าเป็นภาคี จากนั้นจึงได้ทำการศึกษาเนื้อหาของอนุสัญญาและทำการวิเคราะห์เป็นรายมาตรา จาก Article 1 ถึง Article 15 ครอบคลุมทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงเลือกศาลแบบเด็ดขาด เขตอำนาจศาลตามข้อตกลงเลือกศาลนั้น และการยอมรับและบังคับตามคำพิพากษาของศาลตามข้อตกลงเลือกศาล ภายใต้กรอบทางกฎเกณฑ์ที่อนุสัญญากำหนดไว้ อันมีความเชื่อมโยงและเชื่อมต่อมากบ้างน้อยบ้างกับระบบกฎหมายภายในของรัฐที่จะเข้าเป็นภาคี

ผลการศึกษาเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะพิจารณาบทบาทของศาลไทยในฐานะที่เป็นศาลที่ถูกเลือกตามข้อตกลงเลือกศาล ในฐานะศาลที่มิได้ถูกเลือกไว้ตามข้อตกลงเลือกศาล หรือจนกระทั่งในฐานะของศาลที่ได้รับการร้องขอให้ทำการยอมรับและหรือบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศตามข้อตกลงเลือกศาล ตามที่อนุสัญญากำหนดวางกฎเกณฑ์ไว้ จึงได้นำมาสู่การนำเสนอข้อพิจารณาและบทวิเคราะห์ต่อระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ของประเทศไทย ไล่เรียงตามรายมาตราดังกล่าวนั้น เพื่อเป็นฐานแห่งการวางแนวทางในการพิจารณาและเตรียมความพร้อมทางด้านกฎหมาย ทั้งสำหรับกฎหมายเฉพาะเพื่อการอนุวัติการและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องไปถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายทางด้านวิธีพิจารณาความ สำหรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเฮกฯ ของประเทศไทยต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-05-16