การปฏิรูปอุดมศึกษาไทยตามหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ – การปรับใช้ประสบการณ์ของประเทศเยอรมนีในประเทศไทย
คำสำคัญ:
การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่, การปฏิรูปอุดมศึกษา, มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบทคัดย่อ
การปฏิรูปอุดมศึกษาเป็นประเด็นการอภิปรายในทางวิชาการและในทางการเมืองในหลายยุคหลายสมัยด้วยกัน ทั้งนี้โจทย์ในการปฏิรูปอุดมศึกษาในส่วนต่าง ๆ ของโลกก็มีความแตกต่างกันออกไปด้วย อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญร่วมกันในการปฏิรูปอุดมศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกได้แก่ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนนักศึกษา การถูกจำกัดงบประมาณภาครัฐที่ให้แก่การอุดมศึกษาและการวิจัย การแข่งขันในการรับนักศึกษาทั้งภายในประเทศและในระดับนานาชาติ รวมถึง ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในการรับผู้สำเร็จการศึกษาของภาคธุรกิจ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หลักการสำคัญที่ประเทศชั้นนำทั้งหลายนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปอุดมศึกษาได้แก่ หลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management; NPM)ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นเรื่องการนำแนวคิดในการบริหารธุรกิจเอกชนมาปรับใช้กับการบริหารรัฐกิจ รวมถึงการบริหารงานของมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งนี้กลไกสำคัญของหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (NPM)ได้แก่ การนำหลักการบริการงานเพื่อความพึงพอใจของลูกค้า การบริหารโดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ การเพิ่มอำนาจบริหารให้แก่ผู้บริหารองค์กร รวมถึง การบริการจัดการที่มุ่งเน้นการแข่งขันและกลไกตลาด ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า หลักการบริหารจัดการในลักษณะดังกล่าวจะนำมาปรับใช้กับมหาวิทยาลัยของรัฐได้อย่างไร
ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำที่มีประวัติการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษามายาวนานหลายร้อยปี อย่างไรก็ตาม เยอรมนีเพิ่งรับเอาหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (NPM) มาใช้กับอุดมศึกษาหลังประเทศชั้นนำอื่น ๆ หลายประเทศ อีกทั้งปรัชญาที่ใช้ในการบริหารงานมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนีในรูปแบบดั้งเดิมก็มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากประเทศอื่น จึงเกิดความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเพื่อศึกษาเป็นตัวอย่างว่า จะมีการนำหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่มาปรับใช้กับการบริหารงานมหาวิทยาลัยของรัฐได้อย่างไร รวมถึงก่อให้เกิดผลสำเร็จเพียงใด ทั้งนี้เพื่อนำผลการศึกษาดังกล่าวมาเทียบเคียงกับการปฏิรูปอุดมศึกษาในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อมองย้อนกลับมาพิจารณาความพยายามในการปฏิรูปอุดมศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบราชการ จะพบว่า เนื้อหาของการปฏิรูปอุดมศึกษาไทยโดยการเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายของมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น แม้จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่อยู่หลายประการด้วยกัน แต่ยังมีกลไกสำคัญอีกหลายประการที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแท้จริงเพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปอุดมศึกษา ซึ่งกลไกเช่นว่านั้นน่าจะนำมาใช้ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยไทยให้มีความเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ความมุ่งหมายของการศึกษาวิจัยฉบับนี้จึงได้แก่ การนำเสนอความเป็นไปได้ในการนำหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่มาปรับใช้กับอุดมศึกษาไทย ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก
Downloads
เผยแพร่แล้ว
License
ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สงวนสิทธิในการเผยแพร่ผลงานที่ตีพิมพ์ในแบบรูปเล่มและทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
บทความหรือข้อความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารนิติศาสตร์เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเฉพาะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรณาธิการไม่จําเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ