การคิดดอกเบี้ยในการคืนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ผู้แต่ง

  • จุณวิทย์ ชลิดาพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

ดอกเบี้ย, อัตราดอกเบี้ย, การคืนเงิน

บทคัดย่อ

เงินเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ โดยสภาพแล้วเงินอาจก่อให้เกิดผลตอบแทนหรือประโยชน์แก่เจ้าของเงิน ดังนั้น เมื่อมีเหตุในทางกฎหมายที่ต้องคืนเงิน จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องการคิดดอกเบี้ยของเงินที่ต้องคืน ซึ่งดอกเบี้ยที่กล่าวถึงนี้ มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ (ก) ดอกเบี้ยที่เป็นผลตอบแทนของเงินที่ต้องคืน ซึ่งหากไม่ได้กำหนดอัตราไว้ ก็ย่อมต้องใช้อัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด คือร้อยละ 3 ต่อปีตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ (ข) ดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นลูกหนี้ผิดนัดในหนี้เงิน ซึ่งหากไม่ได้กำหนดเป็นอย่างอื่น อัตราดอกเบี้ยผิดนัดคือร้อยละ 5 ต่อปีตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บทความนี้ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ถึงการคิดดอกเบี้ยในการคืนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยกำหนดขอบเขตของการศึกษาไว้ 2 กรณี ดังนี้
(1) การคืนเงินอันเป็นผลของการเลิกสัญญาตามมาตรา 391 กรณีนี้เห็นว่ามาตรา 391 วรรคสอง ในปัจจุบัน ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนและเหมาะสมแล้ว โดยกฎหมายกำหนดให้ต้องคืนเงินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยให้คืนเงินทั้งหมดที่ได้รับมาบวกกับดอกเบี้ยย้อนหลังไปถึงเวลาที่รับเงินไว้ แต่มีกรณีที่ต้องระวังในการคิดดอกเบี้ยคือภายหลังที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มีผลใช้บังคับ ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยในมาตรา 7 กับดอกเบี้ยในมาตรา 224 มีตัวเลขที่ต่างกัน จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงประเภทของดอกเบี้ย และช่วงระยะเวลาในการคิดดอกเบี้ย กล่าวคือ การคืนเงินตามมาตรา 391 นั้น ให้บวกดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปีตามมาตรา 7 เข้าไปในเงินที่ต้องคืนโดยเริ่มนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ และเมื่อมีการทวงถามให้คืนเงินแล้ว และคู่กรณีที่เป็นลูกหนี้ไม่คืนเงิน จะเกิดกรณีลูกหนี้ผิดนัดซึ่งต้องคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีนับแต่เวลาที่ผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้
(2) การคืนเงินอันเนื่องมาจากลาภมิควรได้ตามมาตรา 412 จะเห็นได้ว่ามาตรา 412 ในปัจจุบัน ได้กำหนดในส่วนที่ต้องคำนึงถึงความสุจริตหรือไม่สุจริตไว้ กล่าวคือ หากเป็นผู้สุจริตให้คืนเงินเพียงเท่าที่เหลืออยู่ในเวลาที่ต้องคืน และหากเป็นผู้ทุจริตต้องคืนเงินเต็มจำนวนนับแต่เวลาที่เป็นผู้ทุจริต ในบทความนี้ ได้เสนอให้เพิ่มการคิดดอกเบี้ยในลักษณะผลตอบแทนย้อนหลังเข้าไปด้วย โดยให้รับผิดในดอกเบี้ยย้อนหลังในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีของเงินที่ต้องคืน โดยเริ่มนับตั้งแต่เวลาที่เป็นผู้ทุจริตซึ่งเป็นเวลาที่บุคคลนั้นรู้ถึงเหตุของลาภมิควรได้ และหากทวงถามให้คืนเงินแล้วไม่คืน ก็จะเกิดกรณีลูกหนี้ผิดนัดซึ่งจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีนับแต่เวลาที่ผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้

References

จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรียงมาตรา จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ ละเมิด บรรพ 2 มาตรา 395-452 (พิมพ์ครั้งที่ 3 กองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2561).

ศนันท์กรณ์ โสติพันธุ์, คำอธิบายกฎหมายลักษณะหนี้ (ผลแห่งหนี้) (พิมพ์ครั้งที่ 6 วิญญูชน 2565).

ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, คำอธิบายนิติกรรมสัญญา (พิมพ์ครั้งที่ 24 วิญญูชน 2564).

ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, คำอธิบายกฎหมายลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ (พิมพ์ครั้งที่ 11 วิญญูชน 2565).

เสนีย์ ปราโมช, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและหนี้ ภาค 1 (ภาค1-2) (พิมพ์ครั้งที่ 4 วิญญูชน 2561).

พิชยามนต์ จารึกสุนทรสกุล, ‘ดอกเบี้ยเงินกู้ ถึงเวลาที่ต้องแก้?’ (2564) 3 วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ 418.

สุจิตรา ใจเอื้อ, ‘การคืนลาภมิควรได้’ (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556).

Basil S. Markesinis, Werner Lorenz, Gerhard Dannemann, The German Law of Obligations Volume I: Law of Contracts and Restitution: A Comparative Introduction (Oxford University Press 1997).

Hironori Matsuo, ‘Amendment to the Japanese Civil Code’ (2020) <https://www.noandt.com/en/publications/publication 20009/> สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2565.

Yoshimasa Oe, ‘Amendments to the Civil Code of Japan (Part 1) : Extinctive Prescription and Statutory Interest Rate’ Oh-Ebashi Newsletter, Autumn issue (2017), <https://www.ohebashi.com/jp/newsletter/Newsletter_en_2017Autumn-Issue.pdf> สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2565.

Yoshimasa Oe, ‘Amendments to the Civil Code of Japan (Part 2): Cancellation of Contracts and Guarantee Obligations’ Oh-Ebashi Newsletter, Winter issue (2017), <https://www.ohebashi.com/jp/newsletter/ Newsletter_en_2017WinterIssue.pdf#page10> สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2565.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-27