แนวปฏิบัติในการเชื่อมโยงราคาโอนและราคาศุลกากร : ประสบการณ์ของต่างประเทศ

ผู้แต่ง

  • สุดคนึง สมบูรณ์วงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

ราคาโอน, การปรับปรุงราคาโอน, ราคาศุลกากร, อากรขาเข้า, กลุ่มบริษัทข้ามชาติ

บทคัดย่อ

การนำเข้าสินค้าของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations: MNCs) ที่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกเป็นนิติบุคคลที่อยู่ในกลุ่มบริษัทเดียวกันและมีความสัมพันธ์กัน อาจมีความเสี่ยงที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะกำหนดราคาโอนของสินค้าให้แตกต่างไปจากราคาที่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันพึงกำหนด (ราคา Arm’s Length) ในกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมีอำนาจปรับปรุงราคาโอนให้สอดคล้องกับราคา Arm’s Length และในกรณีของการนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้าที่มีความสัมพันธ์กันกับผู้ขายการปรับปรุงราคาโอนจะส่งผลย้อนไปถึงการกำหนดราคาศุลกากรและการจัดเก็บอากรขาเข้าของกรมศุลกากรในขณะที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักร ส่งผลให้กรมศุลกากรต้องจัดเก็บอากรเพิ่มเติม ในกรณีที่ผู้นำเข้าชำระไว้ขาด หรือคืนอากรในกรณีที่ผู้นำเข้าชำระไว้เกิน ซึ่งในทางปฏิบัติของประเทศไทยในปัจจุบัน กรมศุลกากรพร้อมที่จะใช้อำนาจจัดเก็บอากรขาเข้าเพิ่มเติม แต่มักปฏิเสธที่จะคืนอากรขาเข้าโดยผลของการปรับปรุงราคาโอน เนื่องจากยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนที่จะรองรับการคืนอากรขาเข้าในกรณีดังกล่าว ผู้เสียภาษีจึงมีความเสี่ยงที่จะต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนสำหรับธุรกรรมเดียวกันเมื่อหน่วยงานหนึ่งปรับปรุงราคาแล้วจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม แต่อีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้จัดเก็บภาษีไปแล้วปฏิเสธที่จะให้ภาษีคืน

            ในเวทีสากล องค์กรระหว่างประเทศและประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี โดยมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับใช้วิธีกำหนดราคาโอนและราคาศุลกากรให้สอดคล้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างที่จะสร้างภาระให้แก่ผู้เสียภาษี โดยแนวทางสากลมีการกำหนดให้นำข้อมูลราคาโอนที่ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานสรรพากรแล้ว ไปใช้ประกอบการพิจารณาสภาพแวดล้อมการขายเพื่อกำหนดราคาศุลกากรที่ต้องไม่ได้รับผลกระทบจากความสัมพันธ์กันของคู่สัญญา ซึ่งกลไกดังกล่าวจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลราคาระหว่างหน่วยงานจัดเก็บภาษี อันจะทำให้เกิดความชัดเจนแน่นอนในการกำหนดราคาและลดต้นทุนที่เกิดจากความซ้ำซ้อนในการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำไปใช้กับหน่วยงานจัดเก็บภาษีต่างหน่วยงาน นอกจากนี้ ในประเทศที่ยอมรับความเชื่อมโยงระหว่างการกำหนดราคาโอนและราคาศุลกากร มักเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีปรับปรุงราคาศุลกากรตามการปรับปรุงราคาโอน โดยยอมให้ผู้นำเข้าปรับปรุงใบขนสินค้าและอากรขาเข้าที่ได้เคยเสียไว้ และมีสิทธิขอคืนอากรหรือชำระอากรเพิ่มเติมโดยไม่มีโทษหรือมีโทษในอัตราลด แล้วแต่กรณี

            จากการศึกษาประสบการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และจีน พบว่า ประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน โดยมีการจัดทำแนวปฏิบัติที่กำหนดให้นำผลการศึกษาราคาโอนที่ผู้ประกอบการได้ยื่นแสดงต่อหน่วยงานสรรพากรและหน่วยงานสรรพากรเห็นชอบแล้ว ไปใช้ประกอบการพิจารณาราคาศุลกากร ทั้งในกระบวนการกำหนดราคาศุลกากรล่วงหน้าและในกรณีอื่น ๆ โดยแนวปฏิบัติของประเทศดังกล่าว ยอมให้ปรับปรุงราคาศุลกากรและอากรขาเข้าตามการปรับปรุงราคาโอน โดยจะไม่มีโทษหรือมีโทษในอัตราลดหากดำเนินการภายในกำหนดเวลาและเป็นไปตามเงื่อนไข ทำให้เกิดความแน่นอนในกระบวนการจัดเก็บภาษีของทั้ง 2 หน่วยงานลดภาระในการจัดเตรียมและตรวจสอบข้อมูลราคาของทั้งภาครัฐและเอกชน และป้องกันไม่ให้เกิด
ข้อพิพาทจากการกำหนดราคาอันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

References

Caroline Silberztein, ‘Transfer Pricing, OECD Policy Framework’ in Anuschka Bakker and Belema Obuoforibo (eds) Transfer Pricing and Customs Valuation Two worlds to tax as one (IBFD 2009).

Duarte Nuno Tenreiro Freitas dos Reis, ‘The tension between Transfer Pricing and Customs Valuation’ (Mestrado Em Contabilidade, Fiscalidade E Finanças Empresariais 2012).

Folkert Idsinga, Bart-Jan Kalshoven and Monique van Herksen, ‘Let’s Tango! The Dance between VAT, Customs and Transfer Pricing’ (September/October 2005) 12(5) International Transfer Pricing Journal 199.

Liu Ping and Caroline Silberztein, ‘Transfer Pricing, Customs Duties and VAT Rules: Can We Bridge the Gap?’ (OECD, 11 September 2007) <https://www.oecd.org/ctp/transfer-pricing/latestdocuments/12> สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566.

Liu Ping, ‘Transfer Pricing and Customs Valuation: Exploring Convergence’ (2007) 2(3) Global Trade and Customs Journal 117.

Mahsin Atci, ‘Transfer Pricing and Customs Valuation Overlap: Is it Possible to Bridge Two Worlds?’ (2020) 6(1) Gazi Journal of Economics and Business 71 <https://doi.org/10.30855/gjeb.2020.6.1.005> สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2565.

Michiel Friedhoff, ‘The treatment of transfer pricing adjustments for the purpose of customs valuation’ (European Fiscal Studies Thesis Erasmus University 2017).

Monique van Herksen, ‘Chapter I Introduction’ in Anuschka Bakker and Belema Obuoforibo (eds) Transfer Pricing and Customs Valuation Two worlds to tax as one (IBFD 2009).

OECD, Transfer Pricing Guidelines for Multinational Enterprises and Tax Administrations 2022.

Sheri Rosenow and others, A Handbook on the WTO Customs Valuation Agreement (Cambridge University Press 2010).

WCO, Guide to Customs Valuation and Transfer Pricing 2018 <https://www.wcoomd.org/-/media/wco/public/global/pdf/topics/key-issues/revenue -package/wco-guide-to-customs-valuation-and-transfer-pricing.pdf> สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565.

ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม, คำสอนวิชากฎหมายภาษีอากร (พิมพ์ครั้งที่ 10, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา 2558).

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-12-27