ศึกษาการขับซอ ของแม่ครูพยอม ถิ่นถา อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

Main Article Content

อัษฎาวุธ พลอยเขียว

บทคัดย่อ

ปริญญานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาวิจัยเรื่องศึกษาการขับซอของแม่ครูพยอม ถิ่นถา อ.เมือง จ. แพร่ โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา ภูมิปัญญาและผลงาน  การขับซอและวงดนตรีประกอบการขับซอของแม่ครูพยอม  ถิ่นถา  ผลการศึกษาพบว่า


            แม่ครูพยอม ถิ่นถา เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 6 สาขาศิลปกรรม (การขับซอ) จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งแม่ครูพยอม ถิ่นถา มีความชำนาญในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับการขับซอ เช่น การขับซอในทำนองต่าง ๆ  การประพันธ์บทเพลงซอ  และพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับซอ ฯลฯ แม่ครูพยอม ถิ่นถายังเป็นบุคคลสำคัญในการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการขับซอของจังหวัดแพร่ ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านในด้านของการขับซอให้มีอยู่และไม่เลือนหายไปจากสังคมของชาวแพร่  ดังนั้น จึงทำให้แม่ครูพยอม  ถิ่นถามีผลงานมากมาย เช่น ผลงานจากการเป็นวิทยากรที่เกี่ยวข้องกับการขับซอในระดับภาคเหนือ  ผลงานด้านการประพันธ์บทเพลงซอ  ผลงานเพลงซอที่ได้รับการบันทึกเสียงและเผยแพร่  จนถึงผลที่ได้รับในระดับประเทศคือ ได้รับเข็มยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2557 จากกระทรวงวัฒนธรรม


            การขับซอของแม่ครูพยอม ถิ่นถา นั้น มีเอกลักษณ์เฉพาะทั้งทางด้านเสียงร้องและการใช้ภาษา โดยเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในจังหวัดแพร่ ด้วยการขับซอที่เป็นรูปแบบของซอปี่เมืองแพร่ โดยมี ทำนองตั้งดาด  ทำนองจะปุ  ทำนองละม้าย ทำนองกะโลงเชียงแสน ทำนองเงี้ยว ทำนองอื่อ ทำนองพม่า และทำนองพระลอ ซึ่งนอกจากนี้แม่ครูพยอม  ถิ่นถา ยังสามารถขับซอในรูปแบบของ ซอล่องน่านได้อย่างชำนาญ โดยมีทำนองดาดแป้  ทำนองล่อนน่าน และทำนองลับแลง ด้วยองค์ประกอบที่สำคัญในการขับซอของแม่ครูพยอม ถิ่นถาคือวงดนตรีประกอบการขับซอ ซึ่งมีนักดนตรีที่มีฝีมือดีที่สุดในจังหวัดแพร่มาร่วมบรรเลง โดยมีวงดนตรี 3 รูปแบบคือ วงปี่จุม  วงซอซึง และวงซอสตริง

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. ศิราพร ฐิตะฐาน. (2524). "เพลงพื้นบ้านตามความคิดของนักคติชนวิทยาตะวันตก" ในอักษรศาสตร์. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
2. สุกัญญา สุจฉายา. (2545). เพลงพื้นบ้านศึกษา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
3. สมบัติ จำปาเงิน. (2546). ประสบการณ์ชีวิตและผลงานฝากไว้ในแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2537 - 2539. กรุงเทพฯ: สุวีริ ยาสาส์น.
4. สิริกร ไชยมา. (2543). ซอเพลงพื้นบ้านล้านนาภูมิปัญญาชาวเหนือ. แพร่: หจก.แพร่ไทยอุตสาหการพิมพ์.
5. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2550). เอกสารประกอบหลักสูตรสาระการเรียนรู้ ขับซอ. กรุงเทพฯ: สำนักงาน คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.