การเพาะเห็ดเยื่อไผ่(Phallus indusiatus) โดยใช้ใบของไม้ผลชนิดต่างๆ ร่วมกับการปลูกพืชผักเถาเลื้อยเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ในสวนไม้ผล

Main Article Content

อัจฉรา บุญโรจน์
วัชรวิทย์ รัศมี

บทคัดย่อ

เห็ดเยื่อไผ่เป็นเห็ดที่รับประทานได้และมีคุณสมบัติเป็นยา วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ เพื่อพัฒนาการนำใบของไม้ผลชนิดต่างๆ มาเพาะเห็ดเยื่อไผ่ร่วมกับการปลูกผักขึ้นค้าง สำหรับเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ในสวนผลไม้โดยทำการทดลองที่คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี ทำการทดลองระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559– เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 อุณหภูมิระหว่างทดลองเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 85 เปอร์เซ็นต์ การวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 การทดลอง การทดลองที่ 1  ศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของเห็ดเยื่อไผ่ด้วยใบไม้ผล 3ชนิด ร่วมกับการปลูกผักขึ้นค้าง โดยวางแผนการทดลองแบบ 3 x 2 Factorial in Randomized Complete Block Design (RCRD) มี 2 ปัจจัย  ปัจจัยแรกคือ ใบของไม้ผลชนิดต่างๆ มี 3 ชนิด คือ ใบทุเรียน ใบลำไย และใบเงาะ ปัจจัยที่ 2 คือชนิดของผักขึ้นค้าง มี 2 ชนิด คือ มะระ และ บวบ มีทั้งหมด 6 สิ่งทดลอง  ผลการทดลองพบว่า การเพาะเห็ดเยื่อไผ่ด้วยใบทุเรียนใต้ค้างมะระให้ดอกเร็วที่สุด คือ 38.7 วันหลังการใส่เชื้อลงแปลง แต่ไม่แตกต่างทางสถิติกับการเพาะด้วยใบทุเรียนใต้ค้างบวบและใบเงาะใต้ค้างบวบ  ซึ่งจะออกดอกเมื่อใส่เชื้อลงแปลงได้ 42 วัน และ 44.7 วัน ตามลำดับ  นอกจากนี้พบว่าการเพาะเห็ดเยื่อไผ่ด้วยใบทุเรียนมีแนวโน้มที่จะให้ดอกได้ยาวนานและมีจำนวนครั้งของการให้ดอกที่มากกว่าสิ่งทดลองอื่น ๆ การเพาะเห็ดเยื่อไผ่ด้วยใบทุเรียนใต้ค้างมะระสามารถเก็บดอกได้ถึง 12 ครั้ง และการเพาะเห็ดเยื่อไผ่ด้วยใบทุเรียนใต้ค้างบวบสามารถเก็บดอกได้ 9 ครั้ง ในระยะเวลาการเก็บผลผลิต 82 วัน การใช้ใบทุเรียนใต้ค้างมะระให้จำนวนดอกทั้งหมดต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร มากที่สุดคือ 14 ดอก แต่ไม่แตกต่างทางสถิติกับสิ่งทดลองอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ การเพาะด้วยใบเงาะใต้ค้างบวบให้น้ำหนักสดดอก น้ำหนักแห้งดอก และมีความยาวร่างแหมากที่สุดคือ 48.2 กรัม 2.8 กรัม และ 23.3 เซนติเมตร ตามลำดับ การเพาะในทุกสิ่งทดลองมีความยาวก้านดอก ผลผลิตรวมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ปริมาณความชื้น และปริมาณโปรตีนไม่แตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ


            การทดลองที่ 2   ศึกษาอิทธิพลของอาหารเสริมต่างๆ ต่อการให้ผลผลิตของเห็ดเยื่อไผ่ โดยทำการเพาะเห็ดเยื่อไผ่ด้วยใบทุเรียนใต้ค้างบวบ ซึ่งให้ผลดีจากการทดลองที่ 1 โดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design (RCBD) มี 3 ซ้ำ สิ่งทดลองที่ 1 คือ  แปลงเพาะเห็ดไม่ใส่อาหารเสริม (control) สิ่งทดลองที่ 2 : แปลงเพาะเห็ดใส่รำ 5 % ของน้ำหนักใบทุเรียน สิ่งทดลองที่ 3 : แปลงเพาะเห็ดใส่รำ 5 % + ดีเกลือ 2 % สิ่งทดลองที่ 4 : แปลงเพาะเห็ดใส่รำ 6 % + ดีเกลือ 2 % + ยิปซัม 2 % สิ่งทดลองที่ 5 : แปลงเพาะเห็ดใส่รำ 6 % + ดีเกลือ 2 % + ยิปซัม 2 % + ปูนขาว 1% ผลการทดลองพบว่า การเพาะเห็ดเยื่อไผ่ทุกสิ่งทดลองที่มีรำเป็นส่วนประกอบจะทำให้ได้ผลผลิตต่ำกว่าการไม่ใส่อาหารเสริม (แปลงควบคุม) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. จิราวรรณ หาญวัฒนกุล. (2552). เห็ดร่างแหหรือเห็ดเยื่อไผ่. สำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.
2. นิรนาม. (2558). เห็ดเยื่อไผ่ (Bamboo Mushroom). เข้าถึงได้จาก: http://www.greenclinic.in.th/dictyophora.html. 2558.
3. นิรนาม. หน้าที่ของเห็ดในระบบนิเวศ. ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เล่ม 40, เรื่องที่ 4) . เข้าถึงได้จาก: http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=40&chap=4&page=t40-4-infodetail03.html. 2562.
4. นิรนาม. อาหารเห็ด. เข้าถึงได้จาก: https://sites.google.com/site/banhed01/home/xahar-hed. 2562.
5. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ. (2556). บัญชีรายการทรัพย์สินชีวภาพ เห็ด. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน).
6. อรทัย เอื้อตระกูล. (2559). สารตกค้าง...เห็ดนำเข้าจากประเทศจีน. เคหะการเกษตร. 40 (กรกฎาคม): 142-146.
7. biology. มารู้จักเห็ดร่างแห หรือเห็ดเยื่อไผ่กันเถอะ (บทความเดือนกันยายน 57). สาขาชีววิทยา: สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. เข้าถึงได้จาก: http://www. http://biology.ipst.ac.th/?p=2328. 2562.
8. Gonzalez, G. & Seastedt, T.R. (2000). Soil fauna and plant litter decomposition in tropical and subalpine forests. Ecology. 82(4), 955-964.
9. Lodge, D.J., McDowell, W.H., Mac, Y.J., Ward, S.K., Leisso, R., Campos, K.C. and Kuhnert , K. (2008) . Chapter 11 Distribution and role of mat-forming saprobic basidiomycetes in a tropical forest. British Mycological Society Symposia Series. 2008 (28): 197-209.
10. Sitinjak, Rama R. (2016). Analysis of the morphology and growth of the fungus Phallus indusiatus Vent. In Cocoa Plantation, Gaperta-Ujung Medan. Research Journal of Pharmaceutical, Biological and Chemical Sciences 7(6): 442-449.