ปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคม: กรณีศึกษา บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคม ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับองค์กรอื่น การวิจัยครั้งนี้ได้ประยุกต์หลักการของดัชนีชี้วัดความสำเร็จแบบสมดุล (Balanced Scorecard) ซึ่งมีการพิจารณาประเด็นหลัก 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการบริหารจัดการ ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านการเรียนรู้และการพัฒนาหน่วยงาน และด้านประสิทธิผล มีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-Structured Interviews) กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เคยร่วมกิจกรรมการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม (Non-Participation Observation) และการศึกษาเอกสาร (Documentary Research)
ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมในแต่ละด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการ คือ ปัจจัยด้านบุคลากรในหน่วยงานความรับผิดชอบต่อสังคม ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ปัจจัยด้านการส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านการเรียนรู้และพัฒนาหน่วยงาน คือ ปัจจัยด้านการปรับปรุงกระบวนการทำงาน และด้านประสิทธิผล คือ ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับบริษัทฯ หลังทำกิจกรรมร่วมกัน
ในส่วนของปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้แก่ การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนรอบเขตประกอบการกับบริษัทฯ ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) พบว่าบริษัทฯ ควรมีการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ชัดเจน และรวดเร็ว กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรกำหนดรัศมีของมลภาวะที่ถูกปล่อยออกจากโรงงาน รวมถึงมีการส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน เพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินกิจการอยู่ร่วมกับชุมชนรอบเขตประกอบการได้อย่างสงบสุขและยั่งยืน
Article Details
References
2. จุฑารัตน์ ชมพันธุ์. (2555). การวิเคราะห์หลัก “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ใน “The Public Participation Handbook: Making Better Decisions through Citizen Involvement” ในบริบทประเทศไทย. วารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม. 8(1) : 123-141.
3. จุฑารัตน์ หงษ์จินดา. (2557). ปัจจัยที่ส่งผลสำเร็จต่อการดำเนินงานระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001): กรณีศึกษา บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน). วารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม. 10(1) : 77-92.
4. พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์. (2550). คอลัมภ์พอเพียงภิวัตน์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ.
5. วรรณธิดา พันธ์พงศ์. (2553). การศึกษาการจัดการป่าชายเลนของคณะกรรมการชุมชนในเขตเทศบาลตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ. สารนิพนธ์คณะวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
6. วชิรา ยศศรี. (2554). การประเมินผลการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษา โครงการปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติ (บางปู) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด. วิชาการค้นคว้าอิสระคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
7. วรวุฒิ โรจน์อุ่นวงศ์. (2548). การประเมินผลยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของเทศบาลเมืองมาบตาพุด. สารนิพนธ์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
8. เอกลักษณ์ ธนเจริญไพศาล. (2555). ความตระหนักและการยอมรับการนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) มาใช้ในองค์กรภาครัฐ: ศึกษากรณีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.